ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB คาดกนง.แนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้ ช้าสุดต้นปี 62 แนะทุกภาคส่วนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ผูกพันกับดอกเบี้ยลอยตัว ธุรกิจที่พึ่งพาการกู้ยืมเงินสูง บริหารความเสี่ยงจากต้นทุนการเงินที่อาจปรับตัวสูงขึ้นเร็ว แนะต่ออายุหนี้อย่างเหมาะสม
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วที่สุดเดือนธ.ค.นี้หรือย่างช้าที่สุดคือครั้งแรกของการประชุมต้นปี 2562 ซึ่งกนง.จะขอดูตัวเลขในปีนี้ก่อน เช่น อัตราเงินเฟ้อซึ่งอยูใกล้กรอบล่าง 1.1-1.2%
“วัฎจักรขาขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้จะค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนในอดีต 2 ครั้งที่ผ่านมาที่ขึ้นพรวดเดียว 2% หรือเฉลี่ย 0.5% ต่อไตรมาส ครั้งนี้คาดว่าจะขึ้นครั้งละ 0.25% และไม่จำเป็นต้องขึ้นทุกไตรมาส เนื่องจากแบงก์ชาติจะต้องพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจให้รอบด้าน “นายยรรยง กล่าว
สาเหตุเนื่องจากปัจจุบันหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเทาตัว หากขึ้นดอกเบี้ยมากจะมีผลต่อภาระครัวเรือน ดังนั้นแบงก์ชาติน่าจะใช้นโยบายผสมผสาน ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยกับการดูแลสินเชื่อที่มีความกังวล เห็นได้จากการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินไว้ และสภาพคล่องในระบบการเงินยังมีอยู่มาก เช่น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 7-8% ของจีดีพีก็ยังสามารถทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
“EIC มองเศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ชะลอตัวลงไปบ้าง แต่แนะนำให้เตรียมรับมือสงครามการค้า และดอกเบี้ยขาขึ้น โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขายตัว 4.5% ก่อนชะลอตัวยู่ที่ 4% ในปี 2562 ซึ่งตัวเลขเติบโต 4.5% ในปีนี้เป็นการปรับขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 4.3% ขอให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาระหนี้ผูกพันกับดอกเบี้ยลอยตัว และธุรกิจที่มีการพึ่งพาการกู้ยืมเงินสูง ควรให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงจากต้นทุนการเงินที่อาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและความเสี่ยงจากปัญหาในการต่ออายุหนี้อย่างเหมาะสม”นายยรรยง กล่าว