HoonSmart.com>>กลุ่มเจมาร์ทหัวทิ่ม เจอถล่มขายยับ ราคาดิ่งลงเหว ลากกลุ่มไฟแนนซ์ร่วงระนาว ผวางบไตรมาส 4-ปี65 ออกมาไม่สวย โบรกเกอร์ ลับดาบจ่อหั่นงบปี 66 เงินเฟ้อสหรัฐสูงเกินคาด ดอกเบี้ยสูงนาน จะกดดันดอกเบี้ยไทย ส่งต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น แบงก์ชาติส่งสัญญาณลดหนี้ภาคครัวเรือน-จะดึงหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบนั้น อาจทำให้กลุ่มไฟแนนซ์ต้องโฟกัสการปล่อยกู้มากขึ้น
วันที่ 15 ก.พ.66 หุ้นไฟแนนซ์ร่วงระนาว โดยเฉพาะกลุ่ม J นำโดย JMT ปิดที่ 42.75 บาท -7.25บาท -14.50% จากช่วงเช้ายังดีอยู่ ขึ้นไปสูงสุดที่ 50.50 บาท JMART ปิดที่ 42.75 บาท -7.25 บาท -14.50% SINGER ปิดที่ 18.80 บาท -2.30 บาท -10.90% ต่ำสุด 18.60 บาท สูงสุด 21.40 บาท และ J ปิดที่ 3.56 บาท ลดลง 0.24 บาทหรือ -6.32% ส่วนไฟแนนซ์รายอื่น เช่น SAWAD ปิดที่ 52.75 บาท -3.25 บาทหรือ -5.80% MTC ปิดที่ 35 บาทลดลง 2 บาทหรือ -5.41% และTH ปิดที่ 2.08 บาท-0.26 บาทหรือ-11.11%
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลงแรงในวันนี้ หลัก ๆ มองว่ามาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มที่ออกมาแล้วไม่ดีเท่าไร เห็นได้ NPLs สูงขึ้น และยังต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นด้วย เช่น SINGER ซึ่งหลังจากที่ได้มีการจัดประชุมนักวิเคราะห์ฯแล้วทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 ของ SINGER ก็ยังไม่ดีต่อเนื่อง ทำให้กังวลว่าบริษัทอื่นในกลุ่มไฟแนนซ์ที่ยังไม่ประกาศออกมาก็น่าจะออกมาในทิศทางเดียวกัน และยังวิตกเกี่ยวกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะกดดันดอกเบี้ยไทยไปด้วย และถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ย่อมต้องกระทบต่อกลุ่มไฟแนนซ์ในแง่ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ มาตรการของแบงก์ชาติที่ต้องการปรับลดเป้าหนี้ภาคครัวเรือนให้ลดลง พร้อมกับยังต้องการจะนำหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ ตรงนี้มีข้อดี และข้อเสีย โดยจะทำให้บริษัทไฟแนนซ์ต้องโฟกัสการปล่อยกู้มากขึ้น อาจมีลูกค้าบางส่วนที่ความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ ซึ่งจะปล่อยก็ไม่ได้ ก็อาจต้องคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง โดยลูกค้าเสี่ยงมาก็ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยแพง แน่นอนว่าหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบมากขึ้น ก็มีโอกาสที่หนี้ NPL จะสูงขึ้นด้วย
“หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์วันนี้ปรับตัวลงหลัก ๆ มาจากงบฯ ซึ่งต้องรอดูงบฯบริษัทอื่นที่ยังไม่ออกมาก่อน บริษัทไหนที่งบฯยังไม่ออกก็หลีกเลี่ยงลงทุนไปก่อน อย่างไรก็ดี ภาพรวมกลุ่มไฟแนนซ์ในปี 66 ยังมีการเติบโตได้ จากความต้องการสินเชื่อที่ยังมีอยู่”
ขณะเดียวกันสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อออกมาสูงเกินคาด เฟดอาจจำเป็นขึ้นดอกเบี้ย สูงอีกนานกดดันดอกเบี้ยไทยส่งผลกระทบต่อกำไรของกลุ่มไฟแนนซ์
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การทำนโยบายการเงินของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป สร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลก ทั้งในด้านอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
“อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย แม้จะยังอยู่ในระดับที่ห่างจากดอกเบี้ยต่างประเทศถึงประมาณ 3% ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบให้เงินทุนไหลออก โดยพบว่าในช่วงไตรมาส 4 ของปี 65 ยังเป็นเงินทุนไหลเข้าสุทธิ และคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะสามารถเติบโตได้ 3.7% ดีขึ้นจากปี 65 และคาดว่าในปี 67 จะเติบอย่างต่อเนื่องจากปีนี้เช่นกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ น่าจะเริ่มชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่นโยบายการเงินยังไม่สามารถผ่อนคลายได้โดยเร็วนัก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังไม่สามารถเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ ส่วนเงินเฟ้อสหรัฐสูงเกินคาด เฟดอาจจะไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงภายในสิ้นปี โดยอาจจะทยอยปรับขึ้นและหยุด จากนั้นคาดว่าจะเริ่มปรับลดได้ในปีหน้า ส่งผลให้อัตรา terminal funds rate อาจสูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยเลยมีผลต่อค่าเงิน”นายเมธีกล่าว