TTB ชูบริการตีคู่แบงก์ท็อปทรี-ปี’66 โฟกัสต่อยอดจุดแข็ง

HoonSmart.com>>”ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) ” ลั่นเดินหน้าธุรกิจมาถูกทาง เติบโตขึ้นทุกด้าน ต้นทุนลดลง ใช้ประโยชน์จากความใหญ่หลังรวมกิจการไปขยายฐานลูกค้า ดึงดูดพันธมิตรชั้นนำเข้ามาช่วยเพิ่มบริการที่ดียิ่งขึ้น เปิดแผนปี 66 สานต่อพันธกิจ The Bank of Financial Well-being สร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย ชู 3 กลยุทธ์หลัก รุก Digitalization ผ่าน ttb touch เวอร์ชันใหม่ ต่อยอดจุดแข็ง ด้วย Ecosystem Play เป้าหมาย “ท็อปทรีดิจิทัลแบงก์” ในทุกมิติของลูกค้า เทียบ KBANK-KTB-SCB ยันไม่ขอใบอนุญาต Virtual Bank 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า ธนาคารเดินมาถูกทางแล้ว หลังรวมกิจการเสร็จแล้ว ได้ใช้ประโยชน์จากความใหญ่ขึ้นเป็นแบงก์อันดับหก ต่อยอดไปหาลูกค้ามากขึ้น ด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตลูกค้าดีขึ้น ขณะที่ผลการดำเนินงานก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 36%เป็น 14,196 ล้านบาท จากการพัฒนาประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลงจาก 48% มาอยู่ที่ 45%รวมถึง %ต้นทุนความเสี่ยงลดลงมาอยู่ที่ 1.33% จากระดับ 1.79%ในปี 2563 ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) ก็ลดลงต่ำในระดับต้นๆของระบบ ตั้งสำรองไว้พร้อม ไม่มีอะไรต้องกังวล แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะหยุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในสิ้นปีนี้ ก็ไม่กระทบต่อการดำเนินงาน มีเพียง NPLs เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.7%เป็น 2.9% เท่านั้น คาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 3%

แนวโน้มปี 2566 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทาย เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่จากความพร้อมของธนาคารที่สะท้อนได้จากความสำเร็จทั้งธุรกิจ และการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า หลังจากนี้ยังคงมุ่งสานต่อพันธกิจ ด้วยการสร้าง The Next REAL Change เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในรูปแบบใหม่อีกครั้ง ภายใต้กลยุทธ์หลัก 3 เรื่อง ได้แก่

1. Synergy Realization: การนำจุดแข็งและความแข็งแกร่งจากการรวมกิจการ ทำให้มีความแข็งแกร่งด้วยฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านราย มาต่อยอดพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้า วันนี้ถือว่ามีความพร้อมทั้งศักยภาพที่แข็งแกร่งและงบประมาณในการลงทุน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า
ปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน บัญชีเพื่อใช้ เพื่อออม และบัญชีเงินเดือน เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า  ปีนี้จะต่อยอดจุดแข็งไปสู่สินเชื่อรถแลกเงิน (ttb cash your car) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (ttb cash your home) สินเชื่อ ttb payday loan และกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถ ซึ่งโซลูชันเหล่านี้นอกจากจะมีฟีเจอร์ที่โดดเด่นแล้ว ยังจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องภายใต้เศรษฐกิจผันผวนของปีนี้ได้ด้วย

2. Digitalization: การยกระดับประสบการณ์ทางการเงินและพัฒนาประสิทธิภาพของธนาคารผ่าน ttb touch เวอร์ชันใหม่ โดยมีเป้าหมายนำดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า และขับเคลื่อนองค์กรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุน  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายก้าวสู่การเป็น Top 3 Digital Banking Platform ปัจจุบันในระบบแบงก์มีธนาคารกรุงเทพ(BBL) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) เป็นที่ 1 และที่ 2 ส่วนท็อปทรีได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) จะทำอย่างไรให้ตีคู่กับท็อปทรี

” เราจะเป็นท็อปทรี ทำในสิ่งที่ลูกค้าใช้แล้วดีขึ้น การเป็นท็อปสำหรับผม ไม่ใช่การเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ แต่เป็นท็อปในทุกมิติของลูกค้า เพื่อได้รับความสะดวกขึ้น มีชีวิตทางการเงินที่ดี”นายปิติกล่าว

วันนี้ ธนาคารมุ่งยกระดับและขยายขีดความสามารถของ ttb touch ให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายได้อย่างรอบด้าน ซึ่ง ttb touch เวอร์ชันใหม่ได้เปิดตัวไปเมื่อไตรมาส 2/2565 และได้รับการตอบรับจากลูกค้าส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 46% และรายการธุรกรรมบนแอปเติบโตขึ้น 25% ถึงแม้ในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา  ttb touch เกิดปัญหาขัดข้องทำให้ทีมงานได้เร่งปรับปรุงแก้ไข และวางแผนพัฒนาความสามารถในการรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันแอปมีความเสถียรและสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญด้วยศักยภาพของ ttb touch เวอร์ชันใหม่ทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงโปรโมชันต่าง ๆ ให้กับลูกค้าแบบ 1 ต่อ 1 หรือ Segment-of-One ยกระดับการให้บริการลูกค้าได้ โดยธนาคารจะเดินหน้าพัฒนาองค์กรให้เป็น Digital-First Experience เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมส่วนใหญ่ได้เองผ่าน ttb touch เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในขณะที่พนักงานสาขาจะมีบทบาทสำคัญในการเป็น Trusted Advisor ให้คำปรึกษา แนะนำและให้บริการลูกค้าบนผลิตภัณฑ์และบริการที่ซับซ้อน

3. Ecosystem Play: การสร้างชีวิตทางการเงินของลูกค้าบัญชีเงินเดือน มีรถ มีบ้านให้ดีขึ้นรอบด้าน ทีเอ็มบีธนชาตเดินหน้าสร้างการเติบโตด้วย New Business Model มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้ามนุษย์เงินเดือน กลุ่มคนมีรถ และกลุ่มคนมีบ้าน ซึ่งเป็น 3 กลุ่มหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ โดยจะเข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกค้าตลอด Journey และช่วยให้ชีวิตของลูกค้าสามารถบริหารจัดการเรื่องสำคัญได้อย่างรอบด้าน เน้นการทำงานจากทีมภายใน และร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำภายนอก โดยมี ttb touch เป็น ตัวขับเคลื่อนหลัก

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญและเร่งทำคือการเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อร่วมกัน Transform องค์กรได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการเพิ่มศักยภาพและจำนวนทีมงานด้าน Tech & Data ที่ผ่านมาได้ตั้งทีมดิจิทัล ttb spark และ ttb spark academy มุ่งเน้นการสร้าง Talent รุ่นใหม่ที่มีความสามารถสอดรับกับโลกธุรกิจผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมและดิจิทัลโซลูชัน ปัจจุบันมีทีมงาน ttb spark กว่า 400 คน ดูแลทั้งฝั่ง Tech และ Beyond Banking Business พร้อมผลักดันและพัฒนาแอป ttb touch ให้มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ด้าน ttb spark academy ได้มีกิจกรรมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำและมีนักศึกษาเข้ามาฝึกงานด้วยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดกิจกรรม ttb hackathon: Financial Well-being for Thais ซึ่งมีผู้ร่วมสมัครมากกว่า 100 ทีม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้ Talent เหล่านี้สนใจร่วมงานกับธนาคารในอนาคต

“ทีเอ็มบีธนชาตจะไม่ยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank เพราะปัจจุบันก็ทำอยู่แล้ว แต่การจะมี Virtual Bank เกิดขึ้นมาใหม่ ก็ประมาทไม่ได้ คาดต้นทุนอยู่ที่ 30% กว่าหรือ 30% กลาง ๆ ส่วนต้นทุนแบงก์อยู่ที่ 40% บางธนาคารอยู่ 40% กลาง การมีต้นทุนที่ถูกกว่า 10% แบงก์ก็เหนื่อย เพราะจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ถูกกว่า และให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่า แต่ในต่างประเทศ Virtual Bank ที่ประสบความสำเร็จ มีเพียง 1 ใน 10 หรือ 1 ใน 100 ตอนนี้ Virtual Bank ยังเจ๊งอยู่ เพราะต้องใช้เวลาถึงจุดเสถียร ดังนั้นแบงก์ยังมีเวลา แต่สบายใจไม่ได้ในการเร่งปรับลดต้นทุน”นายปิติกล่าวทิ้งท้าย