HoonSmart.com>>ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ประเมินปี 2566 ผู้ประกอบการไทยเตรียมขยับการลงทุน 25% พร้อมลงทุนในสินทรัพย์และเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม ในขณะที่ 31% จำเป็นต้องลงทุนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน แนะภาคการผลิต ควรลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยลงทุนในเครื่องจักรที่ทันสมัย ประหยัดต้นทุน,ภาคการค้า ควรใช้ช่องทางทั้งออนไลน์กับออฟไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม, ภาคบริการ ควรเน้นการบริการที่มีมาตรฐานและรวดเร็ว
ในปี 2566 ธุรกิจไทยกลับมามีความหวังอีกครั้ง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถกลับมาดำเนินงานได้เป็นปกติอีกครั้ง ภายหลังภาครัฐกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ทำให้สัญญาณการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคเอกชนเริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.6% จากปี 2565 ที่ขยายตัว 3.2% โดยมีภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนกลับมาทยอยฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 28 ล้านคน ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในไทยคาดว่าจะกลับมาเติบโตเช่นกัน ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 2.25 ล้านล้านบาท เติบโต 80% จากปี 2565 นอกจากนี้ การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศสามารถกลับมาเป็นปกติได้ในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สามารถดึงการบริโภคภาคเอกชนให้ฟื้นตัวด้วยเช่นกัน
ผู้ประกอบการไทย 25% พร้อมลงทุนด้วยสินทรัพย์และเงินทุนหมุนเวียน ในขณะที่ 31% จำเป็นต้องลงทุนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
ttb analytics ศึกษาความต้องการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในปี 2566 โดยวิเคราะห์การฟื้นตัวของรายได้กิจการ (Total Revenue Index ซึ่งคำนวณจากรายได้ผู้ประกอบการปี 2564 เทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19) เทียบกับอัตรากำไรก่อนหักภาษี (EBIT Margin ปี 2564) โดยใช้ข้อมูลงบการเงินของสถานประกอบการที่มีรายได้มากกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 103,265 กิจการ ที่รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยแบ่งการประเมินความต้องการลงทุนของกิจการออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กิจการที่ต้องลงทุนด้วยสินทรัพย์และเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม (Revenue Index > 100 และ % EBIT > 3) คิดเป็นผู้ประกอบการ 25% ของกิจการทั้งหมด เป็นกลุ่ม “รายได้ฟื้นตัวและอัตรากำไรดี” ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการลงทุนด้านสินทรัพย์ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจมากขึ้น อาทิ ขยายโรงงาน การลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม นอกจากนี้ การที่แนวโน้มรายได้ธุรกิจฟื้นตัว กลุ่มนี้ยังมีความต้องการลงทุนในเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม เพื่อนำไปใช้เสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเติบโตต่อไป ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ขนส่งและโลจิสติกส์ รับเหมาก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยางพารา เหล็กและโลหะ ไอทีและเทเลคอม บรรจุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ บริการธุรกิจ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและชิ้นส่วน
กลุ่มที่ 2 กิจการที่ต้องลงทุนด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม (Revenue Index > 100 และ % EBIT < 3) คิดเป็นผู้ประกอบการ 24% ของกิจการทั้งหมด เป็นกลุ่ม “รายได้ฟื้นตัว แต่อัตรากำไรต่ำ” ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีแนวโน้มรายได้เติบโต จึงมีความต้องการลงทุนในเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพื่อนำไปซื้อวัตถุดิบหรือสต็อกสินค้าไว้เพื่อรอขาย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังมีอัตราการทำกำไรค่อนข้างต่ำ จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารด้านการจัดการต้นทุนเพื่อให้มีกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค
กลุ่มที่ 3 กิจการที่ต้องลงทุนด้านการตลาดเพิ่ม (Revenue Index < 100 และ %EBIT > 3) คิดเป็นผู้ประกอบการ 21% ของกิจการทั้งหมด เป็นกลุ่ม “รายได้ยังไม่ฟื้น แต่อัตรากำไรดี” ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีอัตราการทำกำไรค่อนข้างดี แต่รายได้ของกิจการเมื่อเทียบรายได้กับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่ายังไม่ฟื้นตัว ดังนั้น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีความต้องการลงทุนทางด้านการตลาด เช่น การโฆษณา การผสมผสานการขายผ่านออนไลน์และออฟไลน์ ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ประมง และเฟอร์นิเจอร์
กลุ่มที่ 4 กิจการที่ต้องลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Revenue Index < 100 และ %EBIT < 3) คิดเป็นผู้ประกอบการ 31% ของกิจการทั้งหมด เป็นกลุ่ม “รายได้ยังไม่ฟื้น และอัตรากำไรต่ำ” ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกิจการ โดยการลงทุนที่ต้องใช้เงินทุน ได้แก่ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการบริหารจัดการด้านการผลิต การเงิน และการตลาด ส่วนการลงทุนที่ไม่ต้องใช้เงินทุน ได้แก่ การตรวจสอบกระบวนการผลิตและการขนส่ง โดยมีการสำรวจว่ามีส่วนใดบ้างที่กิจการสามารถเข้ามาจัดการให้เกิดการประหยัดต้นทุนได้ ทั้งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโครงสร้างกิจการ และความสามารถทางด้านเงินทุนของกิจการนั้น ๆ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการอยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว พลังงาน ธุรกิจเครื่องดื่ม ร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าแฟชั่น
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีความพร้อมลงทุนด้านสินทรัพย์และเงินทุนหมุนเวียน ในขณะที่ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมากมีความพร้อมที่จะลงทุนด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจ
นอกจากนี้ ttb analytics ได้ประเมินแนวโน้มความต้องการลงทุนของผู้ประกอบการรายภูมิภาค พบว่า พื้นที่ที่มีความพร้อมลงทุนด้านสินทรัพย์เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวและความพร้อมในการลงทุนด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ เนื่องจาก “รายได้ฟื้นแล้วและมีอัตรากำไรดี” ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล และภาคตะวันออก โดยมีผู้ประกอบการคิดเป็น 27% และ 28% ของผู้ประกอบการในพื้นที่นั้น ๆ ในขณะที่ผู้ประกอบในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ว่าส่วนใหญ่ “รายได้ฟื้นตัวแล้ว แต่อัตรากำไรยังค่อนข้างต่ำ” คิดเป็น 29% 32% 32% และ 38% ของผู้ประกอบการในพื้นที่นั้น ๆ ตามลำดับ ดังนั้น ผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างจังหวัดดังกล่าว เป็นกลุ่มที่มีความต้องการลงทุนด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มรายได้ที่เพิ่มขึ้น
จากผลการประเมินความพร้อมและความต้องการของผู้ประกอบการไทย ทำให้เห็นโอกาสความต้องการลงทุนที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถทางการแข่งขันและอัตรากำไรของผู้ประกอบการแต่ละราย ทำให้ ttb analytics แนะผู้ประกอบการที่มีความพร้อมด้านการลงทุนโดยแบ่งเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้
– ผู้ประกอบการภาคการผลิต ควรพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน 1-3 ปีข้างหน้า โดยลงทุนในเครื่องจักรที่ทันสมัย ประหยัดต้นทุน ประหยัดพลังงาน และมีความแม่นยำในการผลิตสูง
– ผู้ประกอบการภาคการค้า ควรพิจารณาประยุกต์ใช้ช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์กับออฟไลน์อย่างลงตัวเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าในทุกกลุ่ม
– ผู้ประกอบการภาคบริการ ควรเน้นการบริการที่มีมาตรฐานและรวดเร็ว เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก และบอกต่อแก่ลูกค้าคนอื่น ๆ ให้มาใช้บริการต่อไป
นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องหมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การประเมินดีมานด์ของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าได้ตรงความต้องการของลูกค้า และหมุนเวียนสภาพคล่องของธุรกิจให้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนแล้วไม่เกิดรายได้ หรือที่เรียกว่าเงินทุนจม รวมทั้งการดำเนินธุรกิจตามเทรนด์ BCG Economy เพื่อเตรียมรับมือกับเทรนด์ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของ “ธุรกิจสมัยใหม่” ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน