ฝรั่งถือตราสารหนี้ไทย 9.4 แสนล้าน ทำสถิติสูงสุด เงินยังไหลเข้าต่อเนื่อง

ต่างชาติทุบสถิติถือตราสารหนี้ไทย 9.4 แสนล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง เลือกลงทุนอายุยาวขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย แม้ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าสหรัฐ บริษัทเอกชนเครดิตดีออกหุ้นกู้อายุยาวขึ้นล็อคต้นทุนดอกเบี้ย

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีมีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกมียอดซื้อสุทธิ 1 แสนล้านบาท ทำให้มีมูลค่าการลงทุนสะสม 9.4 แสนล้านบาท หรือ 7.53% ของมูลค่ารวม ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดตราสารหนี้ไทย

“ไม่ใช่มูลค่าการลงทุนเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น แต่อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่เข้ามาลงทุนก็มีอายุยาวขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5ปี จากเมื่อต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 ปี โดยใน 9 เดือนมียอดซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะยาว 1.71 แสนล้านบาท และขายสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น 7.1 หมื่นล้านบาท” นายธาดา กล่าว

นายธาดา กล่าวอีกว่า “การเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติมองว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่มีปัญหาทางการเงิน นักลงทุนจึงปรับพอร์ตแล้วเข้ามาลงทุนตราสารหนี้ไทย เพราะมองว่าไทยเป็น Safe Haven ไม่ได้กลับไปลงทุนในสหรัฐฯ แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนต่ำกว่าสหรัฐฯ”

ทั้งนี้ ณ วันที่ 11 ต.ค. 2561 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.86% ต่อปี ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.22% ต่อปี

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวม ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน มีมูลค่าคงค้างรวม 12.28 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% จาก 11.64 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2560

“ภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะออกตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้น รวมทั้งเห็นการเปลี่ยนจากการออกตราสารหนี้ระยะสั้นมาเป็นระยะยาว เพราะล็อคต้นทุนดอกเบี้ย มูลค่าเพิ่มจากปีก่อน 18.69% โดยกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ A+ ขึ้นไปจะมีอายุเฉลี่ย 6.52 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีอายุเฉลี่ย 5.33 ปี ขณะที่กลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB อายุเฉลี่ยลดลงเหลือ 2.77 ปี จาก 3.55 ปี” น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าว

ขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าลดลง โดยเฉพาะตั๋วแลกเงิน (BE) ที่ลดลงถึง 20.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการประกาศใช้เกณฑ์ใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้น

นอกจากนี้ น.ส.อริยา กล่าวว่า กลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-rated) ประมาณ 68% เป็นการออกหุ้นกู้มีหลักประกัน (Secured Bond)