VRANDA เผยรายได้ Q4 ฟื้นใกล้ปี 62 บล.พายมอง laggard เป้า 9.50 บ.

HoonSmart.com>>บริษัท วีรันดา รีสอร์ท หรือ VRANDA คาดรายได้ไตรมาส 4/65 สูงขึ้นเทียบกับช่วงก่อนโควิด หลังอัตราการจองห้องพัก โรงแรมและรีสอร์ท กรุงเทพ เชียงใหม่ สมุย เพิ่มขึ้นสร้างรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ของโรงแรมพุ่ง บล.พายมอง VRANDA หุ้น laggard กลุ่มโรงแรม แนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 9.50 บาท

นายวีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท หรือ VRANDA ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 3/65  โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มกลับมาท่องเที่ยวไทย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ ส่งผลให้อัตราการจองห้องพัก โรงแรมโซ แบงคอก ที่อยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้ง วีรันดา  ไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่ – เอ็มแกลเลอรี และวีรันดา คอลเล็กชัน สมุย ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ในช่วงไตรมาส 4/65 VRANDA มีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ของโรงแรมกลับมาอยู่ในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันก่อนการระบาดโควิด-19 (ไตรมาส 4/62)

ภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยปี 66 คาดการณ์ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น จากการที่ประเทศไทยเป็นเดสติเนชั่นที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน หลังจากรัฐบาลจีนเปิดประเทศ  เริ่มมีสัญญาณบวก ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับภาครัฐเพิ่มมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวตลาดภายในประเทศที่ดึงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 5 เริ่ม ก.พ. – ก.ย. อีก 560,000 สิทธิ หวังกระตุ้นรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวต่อเนื่อง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกลับมาคึกคักในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมและบริการต่างๆ ของประเทศไทย

แผนธุรกิจในปี 66 วีรันดา รีสอร์ท วางกลยุทธ์การตลาดอย่างแข็งแกร่ง ทั้งการเปิดแคมเปญการตลาดและการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนบริการต่างๆ ภายใต้โรงแรมและรีสอร์ทในเครือตามหัวเมืองท่องเที่ยวทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ วีรันดา รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน ชะอำ, วีรันดา ไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่, วีรันดา รีสอร์ท พัทยา นาจอมเทียน, โซ แบงคอก สาทร, เวอโซ หัวหิน วีรันดา คอลเล็กชัน และ วีรันดาคอลเล็กชัน สมุย รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ที่เป็น Branded Residence  ติดกับรีสอร์ท อีก 3 แห่ง และมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาที่ ชะอำ- หัวหิน  ซึ่งจะรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ในปี 66 และโครงการใหม่ที่ภูเก็ตจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 ปี 67

“เรามั่นใจว่าปี 66 จะเป็นปีที่ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่น ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญและเริ่มกลับมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจะผลักดันให้ผลดำเนินงานไตรมาส 1/2566 เติบโตได้อย่างเต็มที่  โดยคาดการณ์อัตราจองห้องพักในปี 2566 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ที่ช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มลูกค้าวีรันดาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย ทำให้อัตราการเข้าพักดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเฟส 1-4 ที่ผ่านมา ซึ่งจะผลักดันให้ผลการดำเนินงานทั้งปีเติบโตอย่างมั่นคงได้ตามเป้าหมาย”  นายวีรวัฒน์ กล่าว

บล.พายแนะนำ “ซื้อ” VRANDA  มูลค่าพื้นฐาน 9.50 บาท คำนวณด้วยวิธีคิดลดเงินสด (DCF) (WACC 7.6%, TG 1%) คาดผลประกอบการพลิกฟื้นเป็นกำไรในปีนี้ เหมือนผู้เล่นในประเทศรายอื่น หนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอุปสงค์การเที่ยวต่างจังหวัด ที่คาดว่าจะชดเชยมาตรการกระตุ้นภาครัฐอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่จะสิ้นสุดลงภายในช่วงกลางปีนี้ ประเมินกำไรโตแข็งแกร่งเฉลี่ยต่อปี 18% ในช่วงปี 67-68 หนุนจากอุปสงค์การนักท่องเที่ยวต่างชาติ การเปิดให้บริการวีรันดา เรสซิเดนซ์ ภูเก็ต (154 ห้อง) ในไตรมาส 4/67 รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ และผลประโยชน์ของการคุมต้นทุนได้ดี

ปัจจุบันหุ้นมีมูลค่าไม่แพงที่ P/E 31.9 เท่า ซึ่งต่ำสุดในหุ้นกลุ่มโรงแรมไทย P/E 42.7 เท่า (ไม่รวม AWC ค่า P/E 37.4 เท่า) เป็นหุ้น laggard เนื่องจากราคาหุ้น VRANDA ยังอยู่ในโซนล่างเทียบกับหุ้นกลุ่มโรงแรมรายอื่นที่ราคาหุ้นแตะระดับช่วงก่อนเกิดโควิดไปแล้ว มองว่าเป็นเพราะพอร์ตโรงแรมของบริษัทที่มีความหลากหลายน้อยกว่ากลุ่ม และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจไม่มาก ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจจะมีอุปสงค์ที่มีความเสถียรกว่ากลุ่ม Leisure ในปีนี้  มองว่าราคาหุ้นกับผลประกอบการที่ฟื้นตัวบริษัทไม่ควรเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกัน เพราะบริษัทมี RevPAR ที่พื้นตัวเร็วกว่าคู่แข่งมาตั้งแต่ต้นปี 65 และน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในปี 66

ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/65 กำไรสุทธิ 2.03 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.01 บาท ผลงานงวด 9 เดือน ขาดทุนสุทธิ 17.6 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.06 บาท เทียบกับงวด 9 เดือนปี 64 ขาดทุนสุทธิ 119.8 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.37 บาท  ราคาหุ้นในรอบ 52 สัปดาห์อยู่ในช่วง 5.80-8.45 บาท ราคาล่าสุดระดับ 7.85-7.95 บาท ราคาหุ้นเพิ่มจากต้นปี 4.67%

 

#VRANDA #บล.พาย