กนง.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ บล.กสิกรฯชี้เพิ่มอีก 0.25% แล้วหยุด

HoonSmart.com>>คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามตลาดคาด ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ย้ำทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป จับตาทิศทางอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ยันสถานการณ์รอบด้านดีขึ้น โดยเฉพาะท่องเที่ยว หวังนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาเพิ่มขึ้นรวดเร็ว หนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นตาม จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป ธนาคารกรุงศรี-บล.กสิกรไทยคาดปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25%ในเดือนมี.ค. ด้านธนาคารกรุงไทยคาดส่งออกปีนี้โต 0.7% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองติดลบ 0.5%  

การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่ 25 ม.ค.2566  มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามตลาดคาด ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องย้ำทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ติดตามทิศทางอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด หลังจากเห็นสัญญาณการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น แต่ยังปรับขึ้นราคาหรือค่าบริการไม่ได้ ส่งผลให้มีต้นทุนที่ค้างคาอยู่จำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์รอบด้านที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่คาดหวังนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว น่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ระบุว่า หากแนวโน้มเงินเฟ้อมีการเปลี่ยนแปลงไปจากทิศทางที่คาดการณ์ไว้ กนง.ก็พร้อมจะปรับทั้งขนาดและเงื่อนเวลาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบันแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามที่เคยประเมินไว้ แต่เงินเฟ้อพื้นฐานจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้นในช่วงปลายปี 2566 น่าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 ของเงินเฟ้อในภาพรวม จากปีที่แล้วที่มีบทบาทเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลทำให้ กนง.ยังคงทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเหมาะสมกับภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคต

นอกจากนี้ กนง.มองว่าการที่จีนเปิดประเทศจะเป็นบวกต่อไทยมากกว่าลบ เนื่องจากเศรษฐกิจเชื่อมโยงใกล้ชิดกันพอสมควร ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศของจีนอาจส่งผลผลกระทบด้านลบกับโลก เพราะเมื่อมีการเดินทางมากขึ้น จะส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ธนาคารกลางของหลายประเทศอาจจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นหากเงินเฟ้อยังไม่มีท่าทีลดลง และอาจจะมีผลกระทบทางอ้อมต่อไทยได้ รวมถึงเมื่อการท่องเที่ยวดีขึ้นก็อาจจะทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยด้วย

สำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นจะเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 25.5 ล้านคน และอาจได้เห็นระดับ 34 ล้านคนในปี 2567  สูงกว่าคาดการณ์เดิมของ ธปท. รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว และเศรษฐกิจโลกดีกว่าที่เคยมองว่าจะแย่มาก ก็จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้มีอัพไซด์ได้บ้าง แต่คงไม่มากนัก เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากการส่งออกที่เชื่อว่าไตรมาสแรก จะยังไม่เห็นการฟื้นตัวจากเดือนธ.ค.2565 ติดลบถึง 14.6% สูงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้  เมื่อรวมกับการท่องเที่ยวที่ดีเกินคาด ทำให้ GDP มี upside ได้ แต่คงไม่มากนัก

ส่วนการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ไปสู่ธนาคารพาณิชย์นั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าได้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกหนี้และกลุ่มเปราะบางอย่างรอบคอบแล้ว โดยมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย MRR น้อยกว่าอดีตที่ผ่านมา ส่วนดอกเบี้ย MLR ได้ปรับขึ้นไปพอสมควรใกล้เคียงกับอดีต
รอบนี้เชื่อว่าการส่งผ่านต้นทุนของธนาคารพาณิชย์จึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป  อยากให้ดูแลกลุ่มเปราะบาง ไม่อยากให้มีหนี้เสีย กนง.ได้ชั่งน้ำหนักแล้วว่าภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน จะสามารถรองรับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นได้จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้

นายปิติกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าไปประมาณ 4-5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคราว 2% ซึ่งกนง.ยังจับตาอย่างใกล้ชิด  ที่ผ่านมามีทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า จากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และยังมาจากปัจจัยภายในประเทศ เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นจากผลพวงของนักท่องเที่ยวจีน  จึงทำให้ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนซื้อสินทรัพย์ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่ามีเหตุมีผลรองรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษใด ๆ ออกมาดูแลค่าเงินบาท

ด้านบล.กสิกรไทยคาดกนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง อัตรา 0.25% ภายในไตรมาสแรก และจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ยาวไปจนถึงสิ้นปี 2566

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยถึงกนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 หลังประเมินว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านต่ำลดลง และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นจะช่วยขับเคลื่อนการจ้างงานและรายได้ของภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีจำนวนมาก ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ แต่จะฟื้นตัวในปี 2567

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทซื้อขายเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับแข็งค่ามากที่สุดในรอบกว่า 10 เดือน ซึ่งอยู่ที่ราว 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทในปีนี้แข็งค่ามากถึง 5.0% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ของตลาดที่มีต่อทิศทางนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ และการกลับมาเปิดประเทศของจีนเร็วกว่าคาด

การประชุมกนง.ในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 29 มี.ค. 2566 เรายังคงคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% เพื่อสร้างขีดความสามารถในการปรับนโยบาย (policy space) หากจำเป็นในอนาคต ก่อนจะตรึงไว้ที่ระดับดังกล่าว อย่างไรก็ดี จากท่าทีของกนง.ในวันนี้ ประเมินว่ามีความเสี่ยงด้านสูงมากขึ้นสำหรับดอกเบี้ยนโยบายของไทย

ด้านการส่งออกเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาที่ดิ่งลงแรงถึง -14.6% และกระทรวงพาณิชย์คาดปีนี้จะเติบโต 1-2% นั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้ปี 2565 เติบโตที่ 5.5% โดยการส่งออกไปจีนหดตัวถึง -7.7% ตอกย้ำการอ่อนแรงของคู่ค้าสำคัญ ส่วนแนวโน้มในปี 2566 ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท อย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรก  และฐานการส่งออกในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 หดตัวที่ -0.5%

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 0.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีนซึ่งคาดว่าอุปสงค์จากประเทศจีนจะทยอยฟื้นตัวได้ และแนวโน้มปัญหา supply chain disruption คลี่คลายมากขึ้น