HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงเทพ พร้อมอยู่เคียงข้างและก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน ด้วยมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัว มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หวังลูกค้าทุกรายสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2566 แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายลงบ้าง แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความท้าทายในเรื่องต่างๆ ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวนของราคาสินค้า การทยอยปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ การฟื้นตัวของลูกหนี้ในกลุ่มต่าง ๆ อาจจะไม่เท่ากัน ปัจจัยดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบกับกลุ่มเปราะบางที่ต้องมีการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) ด้วย
ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง พร้อมเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่อยู่เคียงข้างและก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกันในทุกสถานการณ์ และคาดหวังได้เห็นลูกค้าทุกรายสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ธนาคารมุ่งเน้นทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เป็นที่ปรึกษา และดูแลลูกค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของลูกค้าแต่ละราย โดยแบ่งการดูแลลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มลูกค้าที่ยังขาดสภาพคล่อง ธนาคารจะเร่งช่วยเหลือ ประคับประคองให้มีสภาพคล่อง รักษาการจ้างงาน ไม่เพิ่มภาระการชำระหนี้ให้กับลูกค้าในระยะนี้ โดยเฉพาะลูกค้าที่เปราะบาง เช่น บางรายอาจต้องขยายระยะเวลาชำระหนี้ หรือการปรับลดยอดผ่อนลงมา ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
กลุ่มลูกค้าที่ต้องการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในช่วงที่ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งธนาคารจะช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้สามารถค้าขายหรือผลิตสินค้าบริการได้ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น
3. กลุ่มลูกค้าที่ต้องการการสนับสนุนเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่อง ESG โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมในการปรับตัวดังกล่าว เพื่อให้ลูกหนี้สามารถแข่งขันและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของ ธปท. ก็ยังสามารถใช้ในการช่วยเหลือลูกค้าได้อยู่ ได้แก่ มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัว มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย มาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น