นายกิตติ หวังวิวัฒน์ศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการ สำนักวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า บริษัทฯ เดินหน้านำความรู้ทางวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์หรือทางเลือกใหม่ ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่ลดการใช้พลาสติกหรือกระดาษในบรรจุภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่อง
ตอบโจทย์เทรนด์ของผู้บริโภคปัจจุบันที่ตื่นตัวเรื่องการบริโภคที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ได้ออกแบบและร่วมมือกับคู่ค้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไข่ไก่สด ใช้วัสดุรีไซเคิลทดแทนการใช้พลาสติกใหม่เป็นสัดส่วนถึง 80% ของบรรจุภัณฑ์ โดยเป็นพลาสติก Post-Consumer Recycled Plastics (PCR) หรือ พลาสติกที่มาจากการใช้งานของผู้บริโภค และ Post-Industrial Recycled Plastics (PIR) เป็นวัสดุที่เป็นเศษจากกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์พลาสติกไข่ไก่ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพและรับรองความปลอดภัยโดยห้องปฏิบัติการขององค์กรรับรองภายนอก (Third Party) เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าบรรจุภัณฑ์ไข่ไก่สด ปลอดภัย ไม่กระทบต่อคุณภาพของอาหาร นอกจากนี้ จากการประเมินขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในปี 2564 พบว่า บรรจุภัณฑ์ไข่ไก่สดที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกใหม่ทั้งหมด 35%
“การนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ไข่ไก่สด นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลัก BCG โมเดลแล้ว ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการจัดการ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาขยะทะเลอีกด้วย” นายกิตติ กล่าว
นอกจากการใช้วัสดุพลาสติกรีไซเคิลแล้ว ซีพีเอฟ ยังได้พัฒนาวัสดุทางเลือกอื่นๆ เพื่อหาแนวทางการลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษรีไซเคิล 100% กับถาดไข่ไก่สด 30 ฟอง และผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สดพรีเมี่ยม เช่น ไข่ไก่สด Cage Free ไข่ไก่สดเสริมโอเมก้า ขนาด 4 และ 10 ฟอง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไข่ไก่รักษ์โลกของซีพีเอฟ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สด 25 รายการ ได้รับรองฉลากลดโลกร้อน ได้แก่ ไข่ไก่เคจฟรี และไข่ไก่สดปลอดสารขนาดบรรจุต่าง ๆ จาก อบก. ซึ่งประมาณการผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สดซีพีเอฟ ตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่อาหารสัตว์ การเลี้ยงไก่ไข่ จนถึงบรรจุและขนส่งไข่ สามารถช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นกว่า 532,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ซีพีเอฟให้ความสำคัญต่อการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยอาศัยหลักการ BCG โมเดล ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ประกอบไปด้วย Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบของธุรกิจอาหารต่อสิ่งแวดล้อม