HoonSmart.com>> “ธนาคารกรุงศรี” ประเมินเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.30 บาท/ดอลลาร์ หลังสัปดาห์ก่อนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน ตลาดมั่นใจมากขึ้นเฟดจะลดความแข็งกร้าวปรับขึ้นดอกเบี้ย ติดตามยอดค้าปลีกเดือนธ.ค.สหรัฐฯ เตือนบาทแข็งค่ารวดเร็วและต่อเนื่องอาจมีแรงขายทำกำไร
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.98 บาท/ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 32.93-33.69 บาท/ต่อดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน
ขณะที่ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเดือนธ.ค.ของสหรัฐฯลดลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง และเมื่อเทียบปีต่อปี CPI ทั่วไปเพิ่มขึ้น 6.5% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นต่ำสุดตั้งแต่เดือนต.ค. 64 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 7.1% ในเดือนพ.ย.
ขณะที่ CPI พื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นน้อยสุดตั้งแต่เดือนธ.ค. 64 หลังจากเพิ่มขึ้น 6.0% ในเดือนพ.ย. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรปที่แข็งแกร่งเกินคาดเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์อีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 10,480 ล้านบาท และ 18,990 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคในอัตรากว่า 4.5%
สำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ขณะที่ผู้ร่วมตลาดคาดว่าบีโอเจอาจจะพิจารณาทบทวนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ผ่านการปรับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) ในการประชุมวันที่ 17-18 ม.ค. โดยแม้การประกาศยกเลิก YCC ในรอบนี้ไม่ใช่สมมติฐานหลักของเราแต่ยอมรับว่ามีโอกาสมากขึ้นเพื่อปูทางสำหรับการปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต เนื่องจากเงินเฟ้อและค่าแรงในญี่ปุ่นอาจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี กรณีที่บีโอเจไม่ปรับ YCC ในสัปดาห์นี้อาจทำให้เงินเยนพักตัวระยะสั้นได้
นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามยอดค้าปลีกเดือนธ.ค.ของสหรัฐฯเพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยเฟดต่อไป
สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เราคาดว่ามีแนวโน้มผันผวนสูง โดยการแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเงินบาทอาจมีแรงขายทำกำไรสลับกลับมาบ้าง อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ระยะกลางถึงยาวเราประเมินว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯที่จะชะลอลง ความคาดหวังต่อการกลับทิศของนโยบายเฟด และการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของภาคท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนเงินบาทในปีนี้