ตามโผ! THCOM คว้าใบอนุญาตดาวเทียม 2 ชุด มูลค่ารวม 797 ล้านบ.

HoonSmart.com>>กสทช.เปิดประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นครั้งแรก จำนวน 5 ชุด สเปซ เทค อินโนเวชัน “บริษัทลูกไทยคม-THCOM” ได้รับชัยชนะ ชุดที่ 2 โดยเสนอราคาสุดท้ายที่ 380,017,850 บาท และชุดที่ 3 ราคาสุดท้ายที่ 417,408,600 บาท ส่วนชุดที่ 4  บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติได้ไปในราคาสุดท้ายที่ 9,076,200 บาท ส่วนชุดที่ 1 และชุดที่ 5 ไม่มีผู้เสนอราคา ทั้งนี้ใบอนุญาตมีอายุ 20 ปี ส่งผลดีต่อ GULF ผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยคม 41%  

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม วันที่ 15 ม.ค. 2566  โดยมีผู้เสนอราคาประมูลจำนวน 3 ชุด จากทั้งหมด 5 ชุด คือชุดที่ 2, 3 และ 4 ตามที่ กสทช.เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า มูลค่ารวม 806,502,650 บาท โดยมีผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชัน ซึ่งบริษัทย่อยของ บริษัท ไทยคม (THCOM) , บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า การประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 2 ผู้ชนะประมูล คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น  ราคาสุดท้ายที่ 380,017,850 บาท ชุดที่ 3 ผู้ชนะประมูล ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น   ราคาสุดท้ายที่ 417,408,600 บาท และ ชุดที่ 4 ผู้ชนะประมูล ได้แก่ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ราคาสุดท้ายที่ 9,076,200 บาท  โดยบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส   ได้เข้าเคาะราคาในชุดที่ 2 แต่ไม่สู้ราคาต่อ สำหรับชุดที่ 1 และชุดที่ 5 ไม่มีผู้เสนอราคา

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ บอร์ด กสทช.จะรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน ซึ่งผู้ชนะจะชำระใบอนุญาตงวดแรก 10% ของราคาสุดท้ายภายใน 90 วัน งวดที่ 2 ชำระ 40% ในปีที่ 4 และงวดที่ 3 ชำระ 50% ในปีที่ 6 ทั้งนี้ใบอนุญาตฯ จะมีอายุ 20 ปี

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ภาพรวมการประมูลวันนี้ไม่มีข้อขัดข้อง และการประมูลครั้งนี้ที่เป็นใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมที่รองรับทั้งบรอดแบนด์และบรอดคาสท์ สำหรับชุดที่ 1 และ ชุดที่ 5 ที่ไม่รายใดเสนอราคาประมูล ทางบอร์ด กสทช.จะหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“ครั้งนี้เป็นการประมูลดาวเทียมครั้งแรกที่เปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นใบอนุญาต เดิมมีรายเดียวคือ บริษัทไทยคม แต่ตอนนี้มีผู้เล่น 2 รายแล้ว เราก็ดีใจที่ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว

ด้านการซื้อขายหุ้น THCOM วันที่ 13 ม.ค. 2566 ราคาหุ้นปิดกระโดดที่ 16.30 บาท  บวก 0.70 บาทหรือ+4.99% ซึ่งเปิดตลาดวันจันทร์ที่ 16 ม.ค. ราคามีโอกาสอ่อนตัวลงจากการขายเมื่อจบข่าวหลังจากราคาวิ่งมาแรงต่อเนื่องจาที่เคยซื้อขายต่ำกว่า  10 บาท

ส่วน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ปิดที่ 54 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ทั้งๆที่เป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการชนะการประมูลใบอนุญาตดาวเทียมครั้งนี้ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยคม สัดส่วน 41.13% ที่เพิ่งซื้อต่อจาก บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) แล้วเสร็จเมื่อเร็วๆนี้ เนื่องจากกัลฟ์ฯสามารถนำดาวเทียมไปต่อยอดธุรกิจได้อีกมาก