ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน เล็งตั้งหน่วยงานกำกับเริ่มคุม 5 ประเภท พิโกไฟแนนซ์-จำนำทะเบียนรถ-เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง-แฟคตอริ่ง คลังชี้ยอดธุรกิจรวม 1.1 ล้านล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสินเชื่อจำนำทะเบียนปีนี้โตได้ 10%
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล
ในช่วงแรกจะเริ่มจากการกำกับดูแลผู้ให้บริการ 2 กลุ่ม แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ ประกอบด้วย สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และสินเชื่อที่มีการรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถเป็นประกันการชำระหนี้ (สินเชื่อทะเบียนรถ) 2. กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ได้แก่ การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และการซื้อขายลูกหนี้ทางการค้า (แฟคตอริ่ง)
ทั้งนี้ จะจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน เป็นหน่วยปฏิบัติในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงิน โดยผู้ให้บริการกลุ่ม 1 จะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากสำนักงาน ขณะที่ผู้ให้บริการกลุ่ม 2 จะต้องขึ้นทะเบียนในการประกอบธุรกิจกับสำนักงาน
การกำกับดูแลดังกล่าวไม่รวมการให้บริการทางการเงินที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้บริการทางการเงินแก่บริษัทในเครือเดียวกันกับผู้ให้บริการทางการเงินเป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจประกาศกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งมีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะอยู่แล้วไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้ก็ได้เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแล และในอนาคตหากมีความจำเป็นก็สามารถเพิ่มประเภทของผู้ให้บริการทางเงินอื่นๆ เข้ามาอยู่ในกำกับดูแลของร่าง พ.ร.บ. นี้ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติม
นายพรชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลในปี 2560 สินเชื่อทั้ง 5 ประเภทมียอดธุรกิจรวมกันประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
เช่าซื้อ 5 แสนล้านบาท
ลีสซิ่ง 2.7 แสนล้านบาท
จำนำทะเบียนรถ 2 แสนล้านบาท
แฟคตอริ่ง 6.7 หมื่นล้านบาท
พิโกไฟแนนซ์ 330 ล้านบาท (ณ ก.ย. 2561)
“ที่ผ่านมามีข่าวว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไปกู้เงิน หรือจากผู้ให้บริการทางการเงินทั้ง 5 ประเภท เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปควบคุมดูแลเป็นการเฉพาะ ซึ่งกฎหมายออกมาทำให้การดูแลธุรกิจทั้ง 5 ประเภทมีลักษณะคล้าย ก.ล.ต. และ คปภ. ซึ่งคาดว่า กฎหมายนี้จะผ่านการพิจารณาก่อนเลือกตั้ง” นายพรชัย กล่าว
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากการเข้ามากำกับดูแลผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจะมีผลกระทบต่อทางการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่มาก และคาดว่าสินเชื่อจำนำทะเบียนปี 2561 จะเติบโต 10% เทียบกับปี 2560 ที่เติบโต 14.6%
“ผลข้างเคียงจากปัจจัยอื่นๆ คงมีอิทธิพลต่อภาพรวมสินเชื่อจำนำทะเบียนมากกว่า เช่น ฐานที่สูงของปีก่อน และการที่ลูกค้าเป้าหมายบางส่วนขายรถเก่าที่มีกรรมสิทธิเพื่อซื้อรถใหม่แทน ท่ามกลางภาวะที่ตลาดรถใหม่และรถใช้แล้วที่กลับมาคึกคักขึ้นหลังสิ้นสุดผลของโครงการรถคันแรก ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ยังไม่สามารถขอสินเชื่อจำนำทะเบียนได้” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ