HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงเทพ เป็นเจ้าภาพร่วม จัดงาน ‘MIT Media Lab Southeast Asia Forum’หนุนคนไทยได้เรียนรู้งานวิจัยเทคโนโลยีระดับโลก พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิจัยชั้นนำส่งเสริมการนำเทคโนโลยีช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย-ภูมิภาค ดันไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมในอาเซียน
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารได้เข้าเป็นเจ้าภาพร่วม (Co-host) การจัดงาน “MIT Media Lab Southeast Asia Forum” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจการคิดค้นทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้เรียนรู้จาก MIT Media Lab หน่วยงานด้านวิจัยชั้นนำของโลกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (MIT) ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่ในการแสดงวิสัยทัศน์ทางงานวิจัยที่ล้ำสมัย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม โดยเป็นการจัดงานดังกล่าวครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน และได้เลือกจัดขึ้นในประเทศไทยด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตสู่การเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน
“MIT Media Lab Southeast Asia Forum” จัดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวคิด Beyond the Elephant in the Room เพื่อสื่อถึงประเด็นที่เป็นความท้าทายสำหรับมนุษยชาติแต่ถูกมองข้ามเสมอมา ซึ่งงานนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงเทพ, KBTG, สมาคมศิษย์เก่า MIT ในประเทศไทย, MQDC, True, ไทยคม, SCG และ MIT Media Lab โดยมี Professor และ PhD Candidates รวม 13 คน พร้อมด้วยผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอีก 7 คน ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันความรู้ อีกทั้งยังมีผู้บริหารจากองค์กรต่าง ๆ ของไทยอีก 8 คน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ตลอดงาน 3 วัน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริหารของภาคธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญในสายวิชาชีพต่าง ๆ รวมถึงภาคการศึกษา ทั้งอาจารย์ นักศึกษาและนักเรียน เข้าฟังวันละกว่า 850 คน
ประเด็นสำคัญของการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการเปิดโลกทัศน์สู่สถานการณ์หรือความท้าทายในอนาคตที่วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น การขยายขีดความสามารถของมนุษย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Extended Intelligence) การผสมผสานของโลกจริงและโลกเสมือน (Hybrid Realities) การเสริมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ผ่านเทคโนโลยี (Augmented Creativity) การแพทย์แห่งอนาคต (Cyborg Health) Smart Materials, Digital Currency, Space Exploration และ Sustainability
“ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในงานสำคัญครั้งนี้ เพราะถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยและคนไทยที่จะได้รับฟังแนวคิดและผลงานวิจัยทางเทคโนโลยีระดับโลก ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิจัยชั้นนำจาก MIT Media Lab ซึ่งถือเป็นสถาบันวิจัยที่สำคัญและมีผลงานวิจัยระดับแนวหน้าของโลกอยู่มากมาย ก่อนจะนำมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใต่าง ๆ ที่จะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคในอนาคตต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของธนาคารกรุงเทพที่เรามุ่งมั่นนำเสนอบริการด้านการเงินที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยประยุกต์เทคโนโลยีและระบบงานที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน เพื่อต่อยอดเป้าหมายการเป็นธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” นายจรัมพร กล่าว
ในโอกาสนี้ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ได้ร่วมเป็นหนึ่งใน Local Keynote Speaker โดยแนะนำ 6 Episodes ความน่าสนใจของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อรสชาติจัดจ้านที่สามารถเลือกชิมได้ตั้งแต่ในภัตตาคารหรูที่เสิร์ฟแบบ Fine Dining ไปจนถึงร้านสตรีทฟู้ด “ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรไทยที่ได้ผ่านการรับรองตามระบบการแพทย์ทางเลือกว่ามีคุณสมบัติช่วยลดอาการอักเสบและติดเชื้อ ซึ่งบริการทางสาธารณสุขของไทยได้นำมาใช้เพื่อช่วยรักษาอาการจาก Covid-19 “พังสุดา” หนึ่งในช้างเลี้ยงจากปางช้างแม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่สามารถจับพู่กันวาดภาพออกมาได้อย่างสวยงามด้วยเส้นสายแต่ละเส้นที่วาดเพียงครั้งเดียว สะท้อนถึงความสามารถในการเรียนรู้และทักษะที่น่าตื่นตาตื่นใจของช้างไทย
“โรงเรียนดรุณสิกขาลัย” โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในกำกับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้รับความร่วมมือระหว่าง MIT Media Lab โดยนำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ของ Prof. Seymour Papert จาก MIT Media Lab มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ และ ผลงานการสร้าง “ดาวเทียมจิ๋ว (CanSat)” ดาวเทียมจำลอง ที่มีขนาดเล็กจิ๋วเท่ากระป๋องเครื่องดื่ม ของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่สามารถคว้าแชมป์โลก การสร้างดาวเทียมจำลอง ที่สหรัฐอเมริกา ในการแข่งขัน Annual CANSAT Competition 2022
ปิดท้ายด้วยเรื่องงานด้านการออกแบบที่ผนวกเข้ากับมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรม โดยยกตัวอย่าง “โรงแรมสามเสนสตรีท” ที่ยกเครื่องแนวคิดเรื่องนี้ใหม่โดยเปลี่ยนจากโรงแรมม่านรูดในอดีต ให้กลายมาเป็นโรงแรมใหม่ในเชิงสถาปัตยกรรม พร้อมทั้งนำเสนอวิถีชีวิตแบบไทย ๆ เช่น งานวัด หนังกลางแปลง คอนเสิร์ตลูกทุ่ง สตรีทฟู้ด ฯลฯ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสภายในพื้นที่ของโรงแรม โดยชุมชนมีส่วนร่วมและมีรายได้เสริม ซึ่งการนำเสนอดังกล่าว ได้รับการออกแบบให้มีความทันสมัยและยังคงเสน่ห์ของความเป็นไทยได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ในหัวข้อ ‘Creativity Across Scales: Co-Creation Communities of Possibilities’ โดย ดร.เปาว์ ศรีประเสริฐสุข ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรม ธนาคารกรุงเทพ เป็น Moderator ซึ่งการเสวนาได้พูดถึงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องเริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก และผู้ปกครองมีส่วนสนับสนุนที่สำคัญมาก การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน และการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาช่วยมนุษย์ทำงานเชิงสร้างสรรค์ อย่างเทคโนโลยี Generative AI หรือ AI ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ได้เอง เช่น วาดภาพ ทำวิดีโอ แต่งนิยาย เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจมาก เพราะส่งผลต่อบทบาทของมนุษย์ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจากความล้ำสมัยของเทคโนโลยี
รวมถึงเวทีเสวนา ในหัวข้อ ‘Interest of Values: Digital Currency, Web3, and Trustworthy Networks’ ที่ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เป็น Moderator ซึ่งการเสวนาได้พูดถึงโลกของการกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่ให้สิทธิผู้ใช้งานร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบ โดยสามารถสร้างคุณค่า (Value) ให้กับระบบโดยตรงบนพื้นฐานของการพึ่งพาอาศัยกัน (Mutualism) และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้งาน ด้วยรูปแบบการดำเนินงานที่ไม่ต้องมีคนกลางเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลระบบงานทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่อาจนำมาใช้กับ Social Media ในอนาคต
ทั้งนี้ Social Media ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง ที่กำหนดนโยบายให้ผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มเข้าถึงข้อมูลประเภทใดได้บ้าง ซึ่งอาจนำไปสู่การได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด (Misinformation) และเกิดอคติ (Bias) ในสังคมอย่างคาดไม่ถึง การเสวนายังพูดถึง Blockchain Technology ซึ่งเป็นผลงานการคิดค้นของ MIT Media Lab ที่นำมาใช้ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การประมวลผลมีความรวดเร็ว เช่นเดียวกับระบบงานแบบรวมศูนย์ (Centralized) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆได้อย่างกว้างขวาง สำหรับประเทศไทยก็ได้มีการทดลองนำเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency – CBDC) ซึ่งในกรณีประเทศไทย ก็คือเงินบาทที่อยู่ในรูปดิจิทัล มาใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศสำหรับภาคอุตสาหกรรม นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อขจัด Pain Point ได้อย่างยั่งยืน