CIMBT กุนซือขายหุ้นกู้ 1 แสนลบ.-ปี66 โอกาสลงทุนในตลาดทุนกลับมา

HoonSmart.com>>”ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย-CIMBT”โชว์ผลงาน”ธุรกิจวาณิชธนกิจ”ปี 65  เป็นที่ปรึกษาบริษัท-รัฐวิสาหกิจขายหุ้นกู้ รวม 1 แสนล้านบาท สูงติดท็อปไฟว์ของประเทศไทย แนวโน้มปีหน้าตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท มีดีลตลาดทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ดีล M&A อีก 4-5 ดีล 

กนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์

นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ วาณิชธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ปี 2565 เป็นปีที่ท้าทายต่อการระดมทุน จากภาวะตลาดผันผวนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยผันผวนในขาขึ้น บริษัทที่ต้องการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้และตลาดสารทุนตลอดจนเครื่องมือการเงินรูปแบบต่างๆ ต้องการคำปรึกษาและการดูแลจากธนาคารอย่างใกล้ชิดในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อหาจังหวะเวลาเหมาะสมและอัตราที่ดีที่สุดทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย

ทีมวาณิชธนกิจของธนาคาร ฯได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่าย ระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ ทั้งการออกหุ้นกู้เอกชน หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน perpetual bond มูลค่ารวม 1 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวม 1.2 ล้านล้านบาท ติดอันดับ Top 5 ของการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของ Bloomberg รวมทั้งมีการสนับสนุนการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)  และ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) รวมถึงหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์(BTS)

ด้านตลาดตราสารทุนในปีนี้ได้รับโอกาสจาก บริษัท ไทยประกันชีวิต  บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการระดมทุนผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยธนาคารมีทีมงานที่มีประสบการณ์ ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เพื่อช่วยสนับสนุนการระดมทุนให้กับลูกค้า ปัจจุบัน CIMB Group รั้งอันดับ 1 ของ ECM (Equity Capital Market) League Table ในภูมิภาคSouth East Asia

นอกจากนี้ ทีมวาณิชธนกิจยังได้ร่วมกับทีมงานระดับภูมิภาค ได้ร่วมกันเสริมศักยภาพในการขยายกิจการของบริษัท และพร้อมสนับสนุนช่วยบริษัทที่มีความต้องการขยายกิจการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ด้วยเครือข่าย CIMB Group แข็งแกร่งทั่วอาเซียนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก

“ปีนี้เป็นอีกปีที่มีความท้าทายในการระดมทุน อัตราดอกเบี้ยมีความผันผวนและปรับขึ้นต่อเนื่อง บริษัทจะระดมทุนแต่ละครั้งต้องดูสภาพตลาด จังหวะเวลาที่เหมาะสม ที่ผ่านมา ผู้ออกได้ให้โอกาสธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยในการช่วยระดมทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะความเชื่อมั่นในทีมงานที่แข็งแกร่ง เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และรู้จักตลาดเป็นอย่างดี  ต้องมั่นใจว่าจะสามารถระดมทุนได้จากทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย  ฝั่งนักลงทุนเองก็เชื่อมั่นว่าธนาคารคัดสรรหุ้นและหุ้นกู้มีคุณภาพ มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีมานำเสนอ ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม สามารถให้ข้อมูลลูกค้าครบถ้วนถูกต้อง อีกทั้งเราดูแลนักลงทุนแบบครบวงจร มีตลาดรองมารองรับซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นกู้ ผ่านเจ้าหน้าที่ที่คอยให้คำปรึกษา ควบคู่ไปกับแอปพลิเคชั่น CIMB THAI Digital Banking อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเลือกลงทุน Primary Bond และ Secondary Bond ทางเลือกลงทุนอื่นๆ ได้สะดวก ง่าย เป็น One Stop Shop ของการลงทุน”

นายกนต์ธีร์ กล่าวว่า ในปี 2566 แนวโน้มดอกเบี้ยยังขยับขึ้นต่อ แต่จะเริ่มชะลอการขึ้นแล้ว จึงเป็นจังหวะที่ดีของตลาดตราสารทุนที่จะกลับเข้ามาระดมทุน และลงทุนเพื่อขยายกิจการ ส่วนตลาดตราสารหนี้ เชื่อว่ายังมีความต้องการระดมทุนต่อเนื่อง ประกอบกับมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดและจะมีการออกหุ้นกู้ใหม่มาแทนที่เรื่อยๆ ด้าน M&A มีบริษัทหลายแห่งมองโอกาสในการขยายกิจการ ซึ่งธนาคารพร้อมจะเข้าไปสนับสนุน

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย พร้อมรุกธุรกิจวาณิชธนกิจเต็มสูบอีกครั้งในปี 2566  คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนตราสารทุน มีดีลใน pipeline ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และดีล M&A อีก 4-5 ดีลจากหลากหลาย sector ช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการขยายกิจการและร่วมลงทุน ทั้งในไทยและภูมิภาค