จับตา ‘เฟด’ ชี้ชะตาหุ้นโลก ตปท.-สถาบันไทยช้อน 4 พันลบ.

HoonSmart.com>>’หุ้น-ทองคำ’วิ่งรับเงินเฟ้อเดือนพ.ย.ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 5 ลุ้นเฟดส่งสัญญาณชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ยปี 66 กดดันเงินดอลลาร์-บอนด์ยีลด์ลง ส่งผลดีต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า การเงิน ด้านธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 3.6% รมว.คลังลั่นเดินหน้านโยบายสมดุล ไม่จำเป็นต้องกระตุ้น

วันที่ 14 ธ.ค. 2565 ตลาดหุ้นโลกและราคาทองปรับตัวขึ้น สวนทางบอนด์ยีลด์-เงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลง หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 7.1%(YoY) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.3% สนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ส่งผลดีต่อหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า และกลุ่มการเงิน ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ระดับ 1,633.36 จุด เพิ่มขึ้น 7.45 จุด หรือ +0.46% มูลค่าซื้อขาย 57,299.43 ล้านบาท

ด้านนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,177.01 ล้านบาทและสถาบันไทยซื้อสุทธิ 1,964.90 ล้านบาท รวมประมาณ 4,142 ล้านบาท สวนทางนักลงทุนในประเทศขายสุทธิ 4,109.43 ล้านบาท

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (บอนด์ยีลด์) ปรับตัวลงจากวันก่อนหน้า 0.02-0.11% เช่น พันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 1.97%  ลดลง -0.11% ในทิศทางเดียวกับบอนด์ยีลด์สหรัฐต่าสุดในรอบ3 เดือน และ Dollar index ปรับตัวลงแตะระดับ 103.84 จุด ต่าสุดในรอบกว่า 5 เดือน

ส่วนราคาทองคำในประเทศเพิ่มขึ้นบาทละ 200 บาท

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นตามตลาดต่างประเทศ ตอบรับเงินเฟ้อของสหรัฐที่ออกมา 7.1% ต่ำกว่าตลาดคาดไว้ที่ 7.3% แต่ยังต้องรอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อไป ซึ่งตลาดคาดเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% และคาดจะส่งสัญญาณการชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 จากเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะชะลอตัวลง ทำให้เป็นบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลง เงินดอลลาร์สหรัฐก็อ่อนค่า สนับสนุน Fund Flowไหลเข้าตลาด นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็ปรับตัวขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรป อาจจะเกิดภาวะถดถอยในปี 2566  แต่เศรษฐกิจในเอเชียยังเติบโตได้ จากการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง และจีนก็อาจจะเปิดประเทศได้ด้วย

“ตอนนี้กองทุนเริ่มซื้อหุ้นแล้ว นับจากต้นเดือนธ.ค.กองทุนซื้อสุทธิ 3,300 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 9,000 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นการปรับพอร์ตระยะสั้น แต่กองทุนเข้ามาซื้อถือเป็นสัญญาณดี เพราะจะเห็นได้ว่าปีนี้กองทุนซื้อแค่สองเดือนคือ เดือนพ.ค. และมิ.ย. เท่านั้น ที่เหลือขายหมด”นายกิติชาญกล่าว

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันที่ 15 ธ.ค.2565 ตลาดฯมีโอกาสปรับตัวขึ้นหากผลประชุมเฟดออกมาเป็นไปตามคาด ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องได้ พร้อมให้แนวรับ 1,628-1,622 จุด แนวต้าน 1,640-1,645 จุด

ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นจะไปต่อหรือไม่ จะต้องรอผลประชุมเฟด ในคืนนี้ (14ธ.ค.) ตลาดคาดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เป็น 4.5% รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดให้ความเห็นต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ และ dot plots (คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ปี 2566 อย่างไร หากปรับขึ้นไม่เกิน 5% จะส่งผลบวกกับหุ้นต่อไป

บล.กสิกรไทยแนะนำซื้อกลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แก่ BGRIM, GPSC, RATCH, EGCO กลุ่มการเงิน SAWAD, SGC กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ORI, SIRI,SC และกลุ่มเปิดเมือง BEM,SCGP

ด้านธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.4% ขณะที่ปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.7% จากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดเร็วกว่าที่คาด แต่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นปัจจัยบวกหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด คาดว่าจะสามารถกลับไปสู่การเติบโตก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้เร็วขึ้น แต่ยังตามหลังประเทศอื่นในอาเซียน เช่น เวียดนาม ที่มีการฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งจะกลับมาสู่ระดับปกติได้ในปี 2567

“ในปี 2566 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวก ขณะที่หนี้สาธารณะได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ที่ระดับ 61.1% ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ 2565 แต่ก็ยังมีแรงกดดันเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงมานาน อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น จึงยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงผลกระทบของนโยบายการคลัง ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งความพยายามในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง อาจจะต้องมาวิเคราะห์ดูมาตรการต่าง ๆ ที่ถือเป็นรายจ่ายที่รัฐบาลได้จ่ายไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยนโยบายการคลังอาจไม่สามารถใช้แบบกระจายได้เหมือนเดิม ต้องปรับมาเป็นแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้นจะต้องพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 5.5% เชื่อว่าได้ผ่านจุดสูงสุดเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะทยอยลดลง หวังว่าภายในสิ้นปี 2565 จะอยู่ไม่เกิน 6% ซึ่งถือเป็นระดับที่น่าพอใจ ไม่ได้สูงเหมือกับหลายประเทศทั่วโลก

“อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายแบบปกติ โดยเฉพาะการเดินหน้าเข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล หลังจากที่ไทยขาดดุลงบประมาณมานาน จนส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะในระยะยาว” นายอาคม กล่าว