MFC ชู 3 ธีมลงทุนเด่น เติมพอร์ตกองทุนภาษี สร้างโอกาสรับผลตอบแทนระยะยาว

HoonSmart.com>> ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี หลายคนมองหาผลิตภัณฑ์การเงินและการลงทุน อย่างกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตัวช่วยลดหย่อนภาษีของมนุษย์เงินเดือน ทว่าท่ามกลาง “อัตราเงินเฟ้อที่สูงทั่วโลกและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น” ทำให้ยากกับการตัดสินใจลงทุน การจัดพอร์ตกระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ หนึ่งในตัวช่วยรับมือสถานการณ์และความผันผวน

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี (MFC) แนะนำ 2 แนวทางลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษี เริ่มได้ด้วยการทำ DCA (Dollar-Cost Averaging) หรือ “การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย” ทยอยลงทุนเป็นงวดๆ ด้วยจำนวนเงินเท่ากัน สะสมเงินลงทุนต่อเนื่องไม่ต้องกังวลจะเข้าซื้อช่วงเวลาไหน

ส่วนอีกแนวทางเหมาะกับนักลงทุนมือเก๋าที่ติดตามตลาดมาพอสมควร ด้วยการ “จับจังหวะ” ลงทุน ซึ่งวิธีง่ายๆ ที่ไม่ต้องเป็นมือโปรก็ทำได้ ไม่ต้องพึ่งกราฟหรือเทคนิคที่ยาก โดยดูจากการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดหุ้นไหนปรับตัวลงมามากก็ได้เปรียบและเป็นโอกาสลงทุน

ด้วยความที่ SSF-RMF ถูกบังคับให้ลงทุนระยะยาว ตามเงื่อนไข SSF จะขายคืนได้เมื่อถือครบ 10 ปี นับจากวันซื้อ ขณะที่ RMF ขายคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปี และต้องถือมาอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันซื้อ ทำให้การลงทุนมีแต้มต่อ “เมื่อซื้อ” ก็ได้ “ลดภาษี” ทันที และเมื่อระยะเวลาผ่านไปก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวจากราคาหุ้นที่ลดลง ดีกว่าตอนซื้อในราคาพรีเมี่ยม อยู่ในระดับสูง

“โอกาสกระจายลงทุนหุ้นต่างประเทศ ราคาร่วงแรง”

“ตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงมามากพอสมควร ดัชนี S&P500 เคยลงไปลึก -26% NASDAQ หุ้นเทคลงหนักสุด -35% เมื่อเทียบตลาดหุ้นไทย ราคาปรับตัวลงไม่มากจากสิ้นปี 2564 ลงลึกสุด 8% ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา จึงมองโอกาสอยู่ที่ “ตลาดหุ้นต่างประเทศ” ที่ปรับตัวลงแรงเมื่อเทียบหุ้นไทย โดยเฉพาะนักลงทุนที่ไม่มีการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ อาจใช้จังหวะนี้กระจายลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ผ่านกองทุนลดหย่อนภาษี SSF-RMF ได้”

ข้อมูลในอดีต ตลาดหุ้นสหรัฐ หลังผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านเศรษฐกิจถดถอยมาหลายครั้ง มีเหตุการณ์ให้ตลาดปรับฐาน แต่ระยะยาวก็ฟื้นได้ จากสถิติ “ตลาดกระทิง” ยาวนานกว่า “ตลาดหมี” ข้อมูลเจพี มอร์แกน ดัชนี S&P500 ย้อนไปปี 1926 ในช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นยาวนาน 51 เดือน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 162% ขณะที่ตลาดขาลงกินเวลา 20 เดือน ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 41% ตั้งแต่ปี 1926 – 30 ก.ย.2022

ทว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศ หุ้นบางตัวนักลงทุนอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จัก การเลือกใช้บริการมืออาชีพอย่าง “ผู้จัดการกองทุน” ผ่านการซื้อกองทุนรวม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศ เช่นเดียวกับกองทุนลดหย่อนภาษี

ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงมามากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงแรงในปีนี้จึงน่าสนใจ ถือเป็นการจับจังหวะง่ายๆ ด้วยการใช้มืออาชีพผ่านการลงทุนกองทุน SSF-RMF ได้สองเด้งจากการกระจายลงทุนต่างประเทศและยังได้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี

อย่างไรก็ตามแม้หุ้นต่างประเทศจะร่วงแรงจนน่าสนใจเข้าลงทุน แต่นักลงทุนต้องไม่ลืม “ความสามารถในการรับความเสี่ยง” ของผู้ลงทุนมากน้อยแค่ไหน หากทำแบบประเมินความเสี่ยงแล้ว รับความเสี่ยงได้ไม่สูงนักลงทุนอาจเลือกลงทุนในตราสารหนี้ หากรับความเสี่ยงได้สูงแนะนำหุ้นต่างประเทศเสริมพอร์ตรวม

 

“3 ธีมลงทุน “หุ้นโลก-เฮลธ์แคร์-พลังงานสะอาด” เสริมพอร์ตแกร่ง

เมื่อเห็นโอกาสลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศ เพื่อให้การลงทุนมีเสถียรภาพอาจต้องเลือกลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ เพราะถ้าเลือกลงทุนตลาดหุ้นเกิดใหม่ การถือลงทุนระยะยาวเป็น 10 ปี กรณีที่ประเทศนั้นๆ ที่เข้าไปลงทุนมีปัญหาทางการเมืองหรืออาจมีปัญหาเรื่องของสภาพคล่องเกิดขึ้น อาจทำให้นักลงทุนไม่สบายใจ เพราะเป็นเงินลงทุน SSF-RMF เป็นเงินที่สำหรับการเกษียณ การลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว สภาพคล่องสูงจึงเหมาะกว่าลงทุนในหุ้นเติบโตคุณภาพดีทั่วโลก มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาด

“MGFSSF -MGFRMF”
โฟกัสคุณภาพ เติบโตยืนหนึ่ง

ธีมลงทุนแรก : “หุ้นเติบโตคุณภาพดีทั่วโลก (Quality Growth stock) ซึ่งลงทุนได้ทั้งกองทุน SSF และ RMF ผ่าน “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีโกลบอล โฟกัส เพื่อการออม” (MGFSSF) และ “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีโกลบอล โฟกัส เพื่อการเลี้ยงชีพ” (MGFRMF) ที่ลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุน Threadneedle Global Focus Fund (กองทุนหลัก) ซึ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน มีแบรนด์น่าเชื่อถือมีส่วนแบ่งการตลาดสูง กำไรและรายได้เติบโตสม่ำเสมอ ทกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นได้ดี เหมาะกับการลงทุนระยะยาวตรงกับกองทุนลดภาษีที่ต้องถือลงทุนระยะยาวตามเงื่อนไข

หุ้นในพอร์ตประมาณ 30-50 ตัว และเป็นที่รู้จักทั่วโลก อย่าง Microsoft, Mastercard, Amazon เป็นต้น มีระยะเวลาถือครองหุ้นเฉลี่ย 3-5 ปี อีกทั้งกองทุนได้ Morningstar 5 ดาว สะท้อนผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม และมีความเสี่ยงต่ำที่สุด , และได้รับการจัดอันดับความยั่งยืนสูงสุด 5 globe Morningstar sustainability rating

“MHEALTHSSF – MHEALTHRMF”
หุ้นเฮลธ์แคร์ฝ่าศก.ถดถอย-เงินเฟ้อ

ธีมลงทุนที่สอง : หุ้นเฮลธ์แคร์” (Healthcare) ลงทุนได้ทั้งกองทุน SSF และ RMF ผ่าน “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เฮลธ์ อินโนเวชั่น เพื่อการออมระยะยาว” (MHEALTHSSF) และ “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เฮลธ์ อินโนเวชั่น เพื่อการเลี้ยงชีพ” (MHEALTHRMF) ซึ่งลงทุนในกองทุนหลักอย่าง BGF World Healthscience Fund ที่ลงทุนใน 4 กลุ่มเด่นในหมวดอุตสาหกรรมการแพทย์ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์

ธุรกิจ Healthcare เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ จากปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนประชากรสูงอายุมากขึ้น การเติบโตของนวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น

จุดเด่นของกองทุนเป็น Dividend Stock เติบโตได้ดีในทุกสภาวะตลาดจากการลงทุนใน 4 กลุ่มหลักดังกล่าวและในพอร์ตมีการกระจายลงทุนในหุ้น 90-120 ตัว อีกทั้งกองทุนหลักได้ Morningstar 5 ดาว สะท้อนผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม และมีความเสี่ยงต่ำที่สุด

“ปี 2566 มีการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะถดถอยในหลายประเทศ การมีหุ้น Defensive Stock นำไปจัดพอร์ตการลงทุนจะช่วยเสริมพอร์ตการลงทุนได้ จากอดีตที่ผ่านมาเมื่อเกิดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยหรือในช่วงปลายวัฎจักรเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว หุ้นเฮลธ์แคร์มักทำผลตอบแทนได้ดีดว่าหุ้นโลก หุ้นใน S&P500 ต่างจากหุ้นเฮลธ์แคร์ที่มีความปลอดภัย ผลตอบแทนเติบโตไปเรื่อยๆ เป็นแนว Defensive ทนทาน เหมาะกับภาวะปัจจุบัน”

หุ้นในพอร์ต อย่างเช่น Unitedhealth Group , Johnson&Johnson, Astrazeneca

“MRENEWSSF – MRENEWRMF”
ธุรกิจแห่งอนาคต สร้างมูลค่ามหาศาล

ธีมลงทุนที่สาม : พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นกองทุน Flagship อีกกองทุนหนึ่งของ MFC เลือกลงทุนได้ทั้งกองทุน SSF และ RMF ผ่าน “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี รีนิวเอเบิล เอนเนอร์จี ชนิดเพื่อการออม (MRENEWSSF) และกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี รีนิวเอเบิล เอนเนอร์จี ชนิดเพื่อการเลี้ยงชีพ (MRENEWRMF) โดยลงทุนใน BGF Sustainable Energy Fund (กองทุนหลัก) บริหารจัดการโดย BlackRock บริษัทจัดการชั้นนำของโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่คำนึงและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

กองทุนหลักจะเน้นลงทุนในหุ้นของธุรกิจพลังงานยั่งยืน รวมถึงพลังงานทดแทนทั่วโลก ที่เติบโตรวดเร็วต่อเนื่องในทศวรรษหน้า ลงทุนใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลก ได้แก่ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Power) การขนส่งโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (Clean Transport) และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ซึ่งนับเป็นกลุ่มธุรกิจ ESG ที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน พอร์ตการลงทุนในหุ้นประมาณ 30-60 บริษัท

หุ้นในพอร์ต เช่น NEXTERA ENERGY ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ , SUMSUNG SDI บริษัทลูกซัมซุงผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไออ้อน รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

อีกทั้งกองทุนหลัก ได้รับการจัดอันดับ Morningstar 4 ดาว และอันดับความยั่งยืนสูงสุด 5 globe Morningstar sustainability rating

“MFC เชื่อว่าการลงทุนหุ้นธุรกิจพลังงานยั่งยืน ถือเป็นโอกาสลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ลงทุนผ่าน 3 ธีมย่อยและเป็นธุรกิจที่เชื่อว่าจะสร้างมูลค่ามหาศาลต่อการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทที่เกี่ยวข้อง”

ปัจจัยสนับสนุนธีมลงทุนพลังงานยั่งยืนให้น่าสนใจมาจากการขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐทั่วโลก การลดการปล่อยคาร์บอน เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน หลายประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลกตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) การสนับสนุนจากภาครัฐ (Regulation) และมาตรการเงินอุดหนุนโครงการพลังงานสะอาด ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยหนุนหุ้นธีมพลังงานสะอาดให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่สหรัฐฯ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ลงนามผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act 2022 ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุน 369,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลเข้าลงทุนในพลังงานสะอาด เช่น การให้ภาษีคืนแก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า, การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ, อุดหนุนการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน เป็นต้น

ผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลให้สหภาพยุโรปผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย อาทิเช่น เยอรมนีตั้งเป้าหมายใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2035 อีกทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาที่ถูกลงจากอดีต

อีกทั้งปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาที่ถูกลงจากอดีต โดยพลังงานลมบนบก (Onshore wind) และพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน (ต้นทุนอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง)

จัดพอร์ตลงทุน 3 ธีมเสริมแกร่ง

3 ธีมลงทุนที่แนะนำให้มีติดพอร์ต เพื่อรับมือความผันผวนจากสภาวะการณ์ลงทุนและโอกาสสร้างการเติบโตในระยะยาวผ่านธีมการลงทุนที่มีแนวโน้มเติบโตสูง MFC ให้น้ำหนักลงทุนหุ้นทั่วโลกสัดส่วน 15-30% ของพอร์ต วางพอร์ตเป็นการลงทุนระยะยาว หุ้นเฮลธ์แคร์ ไม่เกิน 10% และหุ้นพลังงานทดแทนไม่เกิน 10% เนื่องจากหุ้นเฮลธ์แคร์และหุ้นพลังงานทดแทนเป็นการลงทุนกระจุกตัวในอุตสาหกรรมเดียว ส่วนสัดส่วนที่เหลืออาจเลือกกระจายลงทุนตามที่นักลงทุนสนใจเพิ่มเติม หรือกลับมาดูหน้าพอร์ตเดิมที่มีการลงทุนอยู่ เพื่อจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.mfcfund.com/