UBA ผู้นำบำบัดน้ำเสีย หุ้นน้ำดี พี/อี ต่ำ เติบโตสูง

HoonSmart.com>>UBA หุ้นบำบัดน้ำเสียครบวงจร เบอร์ 1 ครบเครื่องเรื่องระบบน้ำ เติบโตสูง ลูกรักของ “เนาวรัตน์พัฒนาการ”  ธุรกิจไม่ซับซ้อน แต่ใช้ความสามารถของทีมวิศวกร รับงานที่ซับซ้อนและหลากหลาย นับถอยหลังเข้าตลาดหุ้น mai  7 ธ.ค.นี้

บริษัท ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์  (UBA) ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการน้ำ แบบครบวงจร ที่ดำเนินธุรกิจ 21 ปี ด้วยประสบการณ์ความชำนาญ รวมทั้งมาตรฐานการให้บริการลูกค้า ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล ทั้ง ISO 9001, ISO 14001 และ ISO 45001

UBA เป็นผู้นำเบอร์ 1 ที่บริหารจัดการโรงควบคุมคุณภาพน้ำเสียขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)  ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 51.5%  และเป็นเอกชนรายเดียว ที่บริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำของ กทม.

NWR ทำคลอด UBA
จุดกำเนิดของ UBA มาจากบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ของภาครัฐ และเอกชน ที่เข้ารับงานก่อสร้าง และตั้งบริษัทลูก UBA ขึ้นมารับงานบำบัดน้ำเสียและอุโมงค์ระบายน้ำของกทม. โดยมีสมชาติ สังหิตกุล ลูกหม้อ NWR ที่ถูกส่งตัวเข้ามาบริหารในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารอขง UBA พร้อมทีมงานวิศวกร ที่มีประสบการณ์ความชำนาญกว่า 40 ราย  ส่งผลให้ UBA เป็นบริษัทลูกที่สร้างรายได้และกำไร อย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัทแม่ NWR

นายสมชาติ สังหิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า กลุ่มบริษัท ฯ มีจุดเด่นที่การก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ของ กทม. ซึ่งมีผู้เล่นน้อยกว่าบริการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งความยากของอุโมงค์ คือ การคาดการณ์ ปริมาณน้ำเข้า-ออก อุโมงค์ ทำให้มีผู้เล่นน้อย

นอกจากนี้ การเป็นบริษัทลูกเนาวรัตน์ และประสบการณ์ทำงานอุโมงค์ทำให้ UBA มีข้อมูลจากบริษัทแม่ รวมทั้งโอกาสสูง ที่จะได้งานจากกทม. เพิ่มเติม จากปัจจุบันบริหารโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ของกทม. จำนวน 3 โรง จากทั้งหมด 8 โรง ซึ่ง กทม. ทำเอง 2 โรง

งานเพิ่ม-ต้นทุนลด
ซีอีโอ กล่าวว่า โอกาสการได้งานเพิ่มของ UBA จะทำให้การบริหารจัดการต้นทุน มีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ การลงทุนเครื่องมือครั้งเดียว สามารถแชร์ต้นทุนงานอื่น ๆ ได้ ส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้นชัดเจน เพราะไม่ต้องลงทุนเครื่องมือ ฉะนั้น อัตรากำไรสุทธิ ปัจจุบัน 9.4% สามารถขยับขึ้นไป 2 หลัก ขั้นต้น 10%  ได้ง่าย จากงานใหม่ ที่รอเติมเข้ามา

เห็นได้ว่า ผลดำเนินงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมา UBA มีกำไร 50 ล้านบาท จาก 6 เดือนกำไร 30 ล้านบาทเศษ  โดยเป็นรายได้จากงานกทม. 80% ของรายได้รวม และรายได้ส่วนใหญ่ เป็นรายได้จากงานบำบัดน้ำเสียถึง 80% , รายได้ระบบน้ำประปาและรายได้อุโมงค์ระบายน้ำ รวมกัน 20%

โอกาสได้งานใหม่
นายสมชาติ กล่าวอีกว่า ปี 2566 บริษัท จะเข้าร่วมประมูลงานมูลค่า 200-300 ล้านบาท ซึ่งมีโอกาสได้งานใหม่สูงถึง 50% ของมูลค่างาน จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมวิศวกร โดยเฉพาะงานบำบัดน้ำเสียของ กทม. โอกาสทำเองยาก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กทม. ยังให้ UBA บริหารจัดการน้ำเสียต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

” แผนงาน 3 ปีข้างหน้า ยูบีเอ มีแผนเพิ่มสัดส่วนงานภาคเอกชน เช่น การบำบัดน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  , ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30%  และเหตุผลที่บริษัทเป็นผู้นำบำบัดน้ำเสีย มาจากคุณภาพ-มาตรฐานการทำงาน โดยน้ำเสียที่บำบัดออกมา ได้มาตรฐาน ถึงขั้นเลี้ยงปลาได้  , ไม่ทิ้งงาน จนลูกค้าบอกต่อ ฉะนั้น ความไว้ใจและเชื่อใจ เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้โรงงานขนาดใหญ่  องค์กรชื่อดัง ไว้วางใจ UBA ” ซีอีโอ กล่าวทิ้งท้าย

กูรู แห่ให้เป้า 2.10-2.80 บาท
ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส  ประเมินมูลค่าเป้าหมาย UBA ปี 2023 ที่ 2.15 บาท อิง PER 15.7 เท่า แนวโน้มการเติบโตของ UBA จากแผนการประมูลงานของ กทม.  ซึ่งเป็นลูกค้ารายหลักที่ชัดเจน ประสบการณ์บริหารงานให้ กทม.กว่า 20 ปี  UBA จึงมีโอกาสที่จะได้ต่อสัญญาเดิม และได้งานโครงการใหม่ของ กทม.

ขณะที่บล.โนมูระ พัฒนสิน ซึ่งให้ราคาเป้าหมาย 2.20 บาท  โดยมองจุดเด่น UBA ที่อยู่ในอุตสาหกรรม เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวโน้มเติบโต การแข่งขันในธุรกิจไม่รุนแรง และงานโครงการบริหารทรัพยากรน้ำ มีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง  คาดการกำไรสุทธิ 2022 F – 24 F เติบโตเฉลี่ย 31% ต่อปี  เป็น 63 ล้านบาท , 88 ล้านบาท และ 117 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ กทม. มีแผนสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย 15 แห่ง (ปี 2019-2035 ) และมีแผนสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ 6 แห่ง

ฟาก บล.อาร์เอชบี ประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2566 ที่ 2.80 บาท โดยมองว่า UBA  เป็นผู้บริหารจัดการน้ำครบวงจร ครอบคลุมบำบัดน้ำเสีย น้ำประปา และอุโมงค์ระบายน้ำ ได้ประโยชน์จากแผนงานขยายโครงการของกทม. ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก และการเติบโตของอุตสาหกรรมจากลูกค้าอื่น

คาดผลดำเนินงานปี 2565-2567 เติบโตในอัตราเร่ง จากการรับรู้รายได้ทั้งส่วนงานในมือ (Backlog ) รวมถึงสมมติฐานการรับรู้รายได้จากโครงการใหม่ ๆ หนุนยอดขาย และการประหยัดต่อขนาดต้นทุนบริหารงาน  คาดผลักดันอัตรากำไรสุทธิ เป็น 9.7-10.5%  ใน 3 ปีข้างหน้า และ ROE เร่งตัวเป็น 13.3% ในปี 2567 นับว่ามีศักยภาพการเติบโตของกำไรที่มั่นคง