AQ เร่งปลูกกัญชง-กัญชาทำกำไร 70% เดินหน้าพาหุ้นหลุดเครื่องหมาย C

HoonSmart.com>>“เอคิว เอสเตท” หรือ AQ รุก ธุรกิจปลูกกัญชง-กัญชามาร์จินดี 60-70% พร้อมขยายพอร์ตธุรกิจสินเชื่อ Non-bank จาก 120 ล้านบาทเป็น 300 ล้านบาทในปีหน้า กระจายความเสี่ยงจากธุรกิจหลัก หวังสร้างกำไรสัดส่วน 70%ของกำไรสุทธิบริษัท เร่งหาแนวทางปลดเครื่องหมาย C พ้นหุ้น AQ

นายชนน วังตาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “บริษัท เอคิว เอสเตท หรือ AQ เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้างของบริษัท ระบุว่า ปัจจุบัน AQ ดำเนินธุรกิจในลักษณะเป็น Holding Company ประกอบด้วย ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจพลังงานทางเลือก ได้แก่ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์, ธุรกิจการเงิน ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลแบบ Non-bank  และ ธุรกิจปลูกกัญชง-กัญชาเพื่อการสกัดสาร CBD

ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงดำเนินธุรกิจไปตามปกติ แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีอัตรากำไร(มาร์จิน)น้อย ประมาณ 12-15% จึงต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยเน้นที่ผลตอบแทนแต่ละโครงการมากขึ้น อาจมีการปรับเปลี่ยนมาทำเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ที่เป็นไฮเอนด์มากขึ้นเนื่องจากมีอัตรากำไรที่ดี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรายได้สม่ำเสมอในระยะยาว

ส่วนแบ็กล็อกของบริษัทปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 800 ล้านบาท โครงการเอคิว อาร์เบอร์ (สวนหลวง ร.9 – พัฒนาการ), โครงการเอคิว เชดิ (พหลโยธิน – รังสิต), โครงการเอคิว เชดิ (ชลบุรี – บายพาส) และโครงการการ์เดน (อโศก – พระราม 9) ยังดำเนินการขายตามปกติ แต่ไม่มุ่งเน้นว่าจะต้องเร่งขายเร่งเพิ่มยอด แต่จะมองว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างอัตราการทำกำไรที่ดี

ธุรกิจโรงแรมเริ่มดีขึ้นจากภาวการณ์ท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด ปัจจุบัน AQ มีโรงแรม Shasa Resort & Residences และ Malibu Resort and Beach Club ที่เกาะสมุย, Tarna Align Resort เกาะเต่า, Alix กรุงเทพ และ มีพูลวิลล่า ที่ จ.ภูเก็ต

ธุรกิจพลังงานทางเลือก ได้แก่ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ทาง AQ ได้เข้าถือหุ้น 1.5% ในบริษัท วินด์เอ็นเนอร์ยี่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 750 MW และเข้าถือหุ้น 10% ในบริษัท GEP (เมียนมาร์) ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเมียนมาร์ 50 MW ส่วนนี้จะได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอในรูปเงินปันผลและเติบโตไปพร้อมกับอนาคตที่จะมีการใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจการเงิน ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลแบบ Non-bank ทางบริษัทได้ซื้อกิจการของบริษัท Money Speed Cash Wallet (MSCW) ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ สินเชื่อ Non-bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อ 120 ล้านบาท มีแผนจะขยายพอร์ตสินเชื่อให้เป็น 300 ล้านบาทในปีหน้า นายชนนกล่าวว่าธุรกิจนี้มีต้นทุนต่ำ มีอัตรากำไรที่ดีถึง 20%

ธุรกิจปลูกกัญชง-กัญชาเพื่อการสกัดสาร CBD ทางบริษัทได้ซื้อกิจการของบริษัท Egronix ผู้ผลิตกัญชง-กัญชาในเชิงอุตสาหกรรม ติดอันดับ 1 ใน 5 ของภาคเหนือ ธุรกิจนี้มีมาร์จินที่ดีมากถึง 60-70% ในเบื้องต้นบริษัทจะเป็นผู้ผลิตต้นน้ำคือการปลูก เก็บเกี่ยวและขายดอกกัญชง-กัญชาอบแห้ง ในอนาคตจะร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ๆเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตให้ได้ครบวงจรมากขึ้น ในไตรมาสแรกปีหน้าจะเริ่มรับรู้รายได้และกำไรจากธุรกิจกัญชง-กัญชา

“หากจะมองสัดส่วนรายได้จากแต่ละกลุ่มธุรกิจอาจจะประมาณกลุ่มละ 20% ใกล้เคียงกันทั้ง 5 กลุ่ม แต่จากอัตราการทำกำไรที่แตกต่างกัน ในปีหน้ากำไรสุทธิหลักๆจะมาจาก ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อและธุรกิจกัญชง-กัญชาเป็นสัดส่วน 70% ของกำไรสุทธิของบริษัท ในไตรมาส 3/65 บริษัทเริ่มทำกำไรได้ ปีหน้าจะเห็นภาพการทำกำไรชัดเจนมากขึ้นจากการกระจายความเสี่ยงสู่ภาคธุรกิจใหม่ที่ทำกำไรได้ดี เมื่อกิจการดีขึ้น เจรจาแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ของบริษัทจะทำได้ง่ายขึ้น และทางผู้บริหารจะเร่งดำเนินการให้ปลดเครื่องหมาย C จากหุ้นของบริษัทได้ต่อไป” นายชนนกล่าว

นายวรวุฒิ ไหลท่วมทวีกุล กรรมการบริหารบริษัท AQ ผู้ดูแลธุรกิจกัญชง-กัญชาของบริษัท กล่าวว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเข้าลงทุนและเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ โครงการมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมภายหลังการปรับโครงสร้างและทีมบริหารในองค์กร และธุรกิจการปลูกกัญชง-กัญชาของบริษัทจะเป็นฐานรายได้สำคัญให้กับกลุ่ม AQ ในอนาคต ทางบริษัทได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ให้คำปรึกษาตลอดการดำเนินการที่ผ่านมา และใช้นวัตกรรมในการปลูกรวมถึงใช้โรงอบของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการอบผลผลิตอีกด้วย

ไร่กัญชง-กัญชาของบริษัทตั้งอยู่ ณ ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าชาง จังหวัดลำพูน บนพื้นที่ 15 ไร่เศษ มีโรงเรือนสำหรับการเพาะปลูก (Green House) จำนวน 50 โรงเรือน เป็นพื้นที่เพาะปลูกรวม 8,000 ตารางเมตร และพื้นที่ปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) ประมาณ 3,300 ตารางเมตร รวมพื้นที่แปลงเพาะปลูก 11,300 ตารางเมตร มีผลผลิตรวม 7,500 กก.ต่อปี (ราคาขายกัญชงอบแห้งยังไม่ค่อยเสถียร อยู่ในช่วงประมาณ 1-3 หมื่นบาทต่อกก.)

จากพื้นที่เพาะปลูก 50 โรงเรือนแบ่งเป็น กัญชง 40 โรงเรือน(กำลังการผลิต 5,600 กก.ต่อปี) กัญชา 10 โรงเรือน(กำลังการผลิต 450 กก.ต่อปี) ในอนาคตจะปรับปรุงแปลงปลูกกลางแจ้ง(ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1,500 กก.ต่อปี) สร้างเป็นโรงเรือนเพาะปลูกอีก 10 โรงเรือน

ผลผลิตกัญชงและกัญชามีผู้รับซื้อหมดแล้ว โดยผลผลิตกัญชงมีผู้รับซื้อเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักททรัพย์ ส่วนผลผลิตกัญชาผู้รับซื้อคือ Highland Café เป็นทั้งคู่ค้าและผู้รับซื้อผลผลิต และพร้อมเปิดรับคู่ค้าธุรกิจใหม่ๆในอนาคตเพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน จากปัจจุบันเป็นผู้ผลิตต้นน้ำที่ขายเพียงช่อดอก ก็จะพัฒนาสู่ธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำ ใช้ส่วนอื่นๆให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มเติมขึ้น เช่น ราก ใบ ลำตัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไปให้ครบวงจร และเป็น Zero Waste ไม่เหลือของเสียจากการปลูก

 

#AQ #กัญชง #กัญชา #Highland Café