HoonSmart.com>>เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (WAVE) ปักหมุดหลุด C ปี66 สร้างธุรกิจใหม่คาร์บอนเครดิตครบวงจร New S-Curve ใหม่ของบริษัท ตั้งเป้ารายได้คาร์บอนเครดิต ปีแรก 150 ล้านบาท รายได้รวม 700 ล้านบาท
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (WAVE) เปิดเผยว่า ส่วนทุนของบริษัท ฯ หลังเพิ่มทุนจดทะเบียน ขยับขึ้นมา และหลังงบปี 2565 ออกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนของผู้ถือหุ้น จะสูงกว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ คาดหลุดเครื่องหมาย C ได้ในไตรมาส 1/2566
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวถึงแผนธุรกิจหลังเพิ่มทุนสำเร็จมีเงินทุนต่อยอดธุรกิจ ซึ่งบริษัทยังคงธุรกิจหลักโรงเรียนสอนภาษา Wall Street จำนวน 14 สาขา สร้างรายได้ปีละ 400-450 ล้านบาท และหยุดธุรกิจร้านอาหาร Jeffer ที่เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2544
สำหรับธุรกิจใหมเป็น New S-curve ในอนาคตของ Wave คือ การทำธุรกิจครบวงจร คาร์บอน เครดิต
ธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสำหรับ Global Emission ซึ่งประกอบไปด้วยการให้คำปรึกษาทั้งสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย, การเป็นผู้พัฒนาโครงการและผู้ประเมิน (V/VB), ศึกษาและจัดหาคาร์บอน เครดิต ทั้งจากพลังงานสะอาดและพลังงานอื่นๆ สำหรับการซื้อ-ขาย, รวมถึงนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือจากภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน คาดเริ่มสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งช่วงแรก รายได้ธุรกิจไม่หวือหวา ประมาณ 150- 200 ล้านบาท แต่อนาคตเติบโตตามความต้องการ ซึ่งกระแสโลกเข้าสู่เทรนด์การลดโลกร้อน ลดคาร์บอน โดยบริษัทใช้เวลาศึกษาคาร์บอน เครดิต มาพอสมควร
นอกจากนี้ วันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา WAVE ได้เซ็นเอ็มโอยู (MOU) ความร่วมมือกับบริษัท Net Zero Carbon Joint Stock จากเวียดนาม โดย Mr. Tran Minh Tien ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงของ Renewable Energy และมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และพลังงานลม เดินทางมาเซ็นเอ็มโอยู เพื่อจัดหาคาร์บอนเครดิตให้แก้ Wave พัฒนาธุรกิจและร่วมกิจกรรมสร้างองค์ความรู้ให้กับองค์กรในเวียดนาม และขยายสู่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกับบริษัท Net Zero Carbon Joint Stock ส่งผลให้ เวฟ มีคาร์บอนเครดิตและใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) ประมาณ 1ล้านตันคาร์บอน และที่จะผลิตได้จากปี 2023-2026 อีก 2.5ล้าน ตันคาร์บอน
ปัจจุบัน Net Zero Carbon Joint Stock มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ในมือประมาณ 439.1 MW และตั้งเป้าหมายว่า อีก 3 ปี (พ.ศ.2568) จะเป็นเจ้าของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก Renewable Energy ที่ 2,000 เม็กกะวัตต์ เพื่อตอบสนองความต้องการ Carbon Credits และ RECs ที่มีแนวโน้มมากยิ่งขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ
“ กลยุทธ์บริษัท คือ ความยั่งยืนของธุรกิจ ลดต้นทุน รักษาสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้ารายได้รวมปีหน้า 700 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจการศึกษา 400 ล้านบาท ธุรกิจกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ 150 ล้านบาท และรายได้คาร์บอน เครดิต 200 ล้านบาท ซึ่งทุกบริษัทย่อยอยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจปีหน้า”
ซีอีโอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจ คาร์บอน เครดิต และ REC มีแนวโน้มเติบโต และราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดเครดิต คาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2030 คาดเติบโต 15 เท่า และปี 2050 เติบโต 100 เท่า
“ ความน่าสนใจของตลาดคาร์บอน เครดิต ซึ่งเป็น New S-Curve ของเวฟนั้น ซึ่งความต้องการคาร์บอน เครดิต สูงถึง 200 ล้านตัน/ปี และจะเพิ่มมากขึ้นถึง 1,640-1,775 ล้านตันในปี 2030 ขณะที่ไทยมีคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นกับ อบก. แล้วเพียง 7 ล้านตัน/ปี และราคาซื้อขาย ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2018 – 2022 ราคาปรับตัวขึ้น 410% จากช่วงราคา 21 บาท/ตัน ขึ้นมา 107 บาท/ตัน ปัจจุบัน ราคาซื้อขายที่ 50-150 บาท/ตัน ซึ่งราคาโลกซื้อขายกันที่ 18-70 เหรียญสหรัฐ /ตัน ขึ้นอยู่กับประเภทและที่มาของ Carbon Credits และ RECs และต้องได้รับรองจากหน่วยงานรับรองระดับสากล เช่น Gold Standard, CDM, Verra, ACR, GCC, I-RECs ซึ่งปี 2035 มีแนวโน้มปรับขึ้นมา 80-150 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามความต้องการที่สูงขึ้น “ ซีอีโอ กล่าวในที่สุด
ทั้งนี้หลายบริษัท เริ่มมีการลงทุนและจัดสรรงบประมาณ สำหรับความยั่งยืนขององค์กรแม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีระเบียบข้อบังคับจากทางภาครัฐ สำหรับบริษัทที่ต้องการจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังไม่สามารถทำได้หรือลดได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ การซื้อ Carbon Credits หรือ Renewable Energy Credits (RECs) เพื่อมาชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้ปลดปล่อยไป ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถทำได้ง่าย
ประเทศไทยนั้นอยู่ในระหว่างร่างนโยบายการจัดการคาร์บอน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีองค์กรที่สนับสนุนและ facilitator ให้บริษัทไทยบรรลุเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อนำองค์กรไทยไปสู่เวทีโลกด้าน ESG
ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้นถึง 140 ล้าน เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 500 ล้านบาท รวมถึงโครงการเกี่ยวกับ Renewable Energy ที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 16,000 เมกะวัตต์