บอนด์ยิลด์สหรัฐพุ่งทุบตลาดเอเชีย ตปท.ขายหุ้น-บอนด์ไทย 6 พันล.

บอนด์ยีลด์สหรัฐยังคงพุ่งต่อ ดอลลาร์สหรัฐแข็ง กดดันหุ้นเอเชียร่วงยกแผง ไทยรูด 12 จุด ค่าเงินบาทอ่อน ตลาดตราสารหนี้ “เจพี มอร์แกนฯ” ปรับลดน้ำหนักหุ้นจีนลงเหลือ “เท่ากับตลาด” ห่วงสงครามการค้าส่งผลกระทบรุนแรงปีหน้า

วันที่ 4 ต.ค. ตลาดเงินและตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้า ได้รับผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ยังคงดีดตัวขึ้นต่อเนื่อง ในส่วนอายุ 10 ปี ขึ้นสู่ระดับ 3.212% และอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.375% ส่งผลต่อเนื่องถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดตลาดแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเมื่อเดือนม.ค.2559

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยระหว่างวันทรุดลงไปต่ำที่สุด 21.83 จุด ก่อนเด้งขึ้นมาปิดที่ 1,729.40 จุด ลดลง 12.56 จุด มูลค่าการซื้อขาย 64,311.40 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทปิดตลาดอยู่ที่ 32.62 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงหลังจากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นตามตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดี

ทางด้านนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นหนักถึง 4,958 ล้านบาท และไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ด้วย 1,403 ล้านบาท จากการขายจำนวน 583 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 820 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปี ปิดที่ 2.39% เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 0.06% ส่วนสถาบันในประเทศขายหุ้นมากกว่า 3,436 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัว 4.5% จากเดิมคาดไว้ 4.1% ก่อนที่จะเติบโตชะลอลงมาอยู่ที่ 3.9% ในปี 2562-2563

มาร์เก็ตติ้ง กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เห็นได้ชัดเจนจากตลาดเอเชียปรับตัวลงแรงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตลาดหุ้นจีนยังคงปิดทำการ เนื่องในวันชาติ ขณะที่ เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของตลาดหุ้นจีนลงสู่ระดับ “ปกติ” จากระดับ “มากกว่าตลาด” คาดว่า การทำสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐจะส่งผลกระทบที่รุนแรงในปีหน้า

นักวิเคราะห์บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) คาดแนวโน้มตลาดระยะสั้นคาดว่า ได้รับแรงกดดันเพิ่มจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปีพุ่งไปถึง 3.1846% ค่าเงินดอลลาร์แข็ง เงินบาทอ่อนค่าลง มีเงินไหลออก และยังมีปัญหาค่าเงินรูเปียห์ อินโดนีเซียอ่อน ทำให้กังวลสถานการณ์ประเทศเกิดใหม่ แม้ปัญหาวิกฤติงบประมาณอิตาลีได้รับรู้ไปพอควร ดัชนีความกลัว (VIX) ลดลงเป็น 11.61 จุดก็ตาม