HoonSmart.com>>หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์เดี้ยง นำดิ่งโดย TK-MTC-NCAP-BAM-SAK หลังงบไตรมาส 3/65 ของ MTC และ TK ออกมาไม่ดี ส่งเกิดแรงขายลดความเสี่ยงหุ้นอื่นในกลุ่มฯไปก่อน เทคนิคของ MTC-TK เป็นขาลง
เมื่อเวลา 11.04 น.หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลงกันทั่วหน้า นำโดยหุ้น TK ร่วง 6.11% มาอยู่ที่ 8.45 บาท ลดลง 0.55 บาท มูลค่าซื้อขาย 8.35 ล้านบาท
หุ้น MTC ร่วง 5.30% มาอยู่ที่ 35.75 บาท ลดลง 2.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 546.60 ล้านบาท
หุ้น NCAP ลบ 3.61% มาอยู่ที่ 3.20 บาท ลดลง 0.12 บาท มูลค่าซื้อขาย 4.75 ล้านบาท
หุ้น BAM ลบ 2.58% มาอยู่ที่ 15.10 บาท ลดลง 0.40 บาท มูลค่าซื้อขาย 116.20 ล้านบาท
หุ้น SAK ลบ 2.16% มาอยู่ที่ 6.80 บาท ลดลง 0.15 บาท มูลค่าซื้อขาย 6.37 ล้านบาท
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า เช้านี้ราคาหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ต่างปรับตัวลง คาดว่าจะเป็นแรงขายลดความเสี่ยงก่อนผลประกอบการงวดไตรมาส 3/65 จะออกมา หลังจากที่ MTC และ TK ได้ประกาศผลงานไตรมาส 3/65 ออกมาไม่ดี โดยงบฯของ MTC ออกมาต่ำกว่าคาด จาก Credit Cost และ NPL ที่ปรับตัวขึ้น ทำให้เกิดแรงขายลดความเสี่ยงของหุ้นตัวอื่นในกลุ่มฯไปก่อน
ด้านสัญญาณทางเทคนิคของหุ้น MTC และ TK เป็นขาลง โดย MTC จะมีแนวรับ 35 บาท แนวต้าน 37 บาท ส่วน TK มีแนวรับ 8.30 บาท แนวต้าน 8.60 บาท
บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) กำไรไตรมาส 3/65 -13% Q-Q, Flat Y-Y ต่ำกว่าตลาดคาด 13% จากคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่จากเงินเฟ้อที่สูงและหมดระยะเวลาช่วยลูกหนี้ ส่งผลให้ NPL ปรับตัวขึ้นรวมถึง Credit Cost ที่ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ทั้งนี้ คาดกำไรจะยังไม่สดใสในช่วง 2 ไตรมาสข้างหน้า จึงเห็น Downside ของประมาณการกำไรปี 2565-2567 ราว 10-15% รวมถึงราคาเป้าหมายปัจจุบันอยู่ที่ 60 บาท
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ปรับคำแนะนำหุ้น MTC เป็น”ขาย”พร้อมปรับเป้าลงเป็น 34 บาท หลังกำไรไตรมาส 3/65 ต่ำคาด แนวโน้ม NPL, credit cost เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/65 ที่ 1.21 พันล้านบาท (ทรงตัว YoY แต่หดตัว -13% QoQ) ต่ำกว่าตลาดคาด -12% จาก NPL และสินเชื่อจัดชั้น stage 2 ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่ ทั้งแง่มูลค่า และ ratio, credit cost เพิ่มขึ้นสูงเป็น 3.5%, coverage ratio เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 102% ซึ่งถือว่ายังต่ำเมื่อเทียบกับช่วงปี 63-64 ที่ เฉลี่ยที่ 180% โดยคงประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ที่ 5.2 พันล้านบาท (+6% YoY) แต่ปรับกำไรสุทธิปี 66 ลง -11% เป็น 5.4 พันล้านบาท (+4% YoY) จากการปรับเพิ่ม NPL และ credit cost ขึ้น เพื่อสะท้อนคุณภาพสินเชื่อที่ จะยังไม่มีดีขึ้นในช่วงเศรษฐกิจที่ชะลอ และเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง
ราคาหุ้น underperform SET -28% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ยังไม่คลี่คลาย ทั้ง NPL, cost to income และ credit cost ที่จะยังอยู่ในระดับสูง จึงแนะนำ “ขาย” จากผลการดำเนินงานปี 66 ที่จะทรงตัว, ความเสี่ยง จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งคุณภาพสินเชื่อที่ตกชั้นมากขึ้น และ Loan yield ที่จะยังลดลงในช่วงไตรมาส 4/65-ต้นปี 66
ทั้งนี้บริษัทได้มีการประกาศเพิ่มทุน บริษัท เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ (บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% และเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ BNPL) เป็น 1.0 พันล้านบาท (เดิม 100 ล้านบาท) สะท้อนถึงแนวโน้มสินเชื่อ BNPL ที่จะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 2% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตามปกติสินเชื่อ BNPL จะมี NPL ที่สูงกว่าสินเชื่อจานาทะเบียนรถ ทำให้ยังคงกังวลว่าคุณภาพสินเชื่อจะยังไม่ฟื้นตัวในเร็ววัน