HoonSmart.com>>”ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย)”หรือ STGT รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/65 ที่ 21.8 ล้านบาท ลดลง 99.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,532.82 ล้านบาท เนื่องจากรายได้รวมจากการขายลดลง 55% YoY กำไรขั้นต้นลดลง 90% YoY เหตุราคาขายเฉลี่ยปรับลดลงต่อเนื่องตามราคาถุงมือยางในตลาดโลกหลังการแพร่ระบาดโควิดคลี่คลาย ขณะที่อุปทานรวมเพิ่มขึ้นสูง และปริมาณการขายหด 11.5% YoY รวมทั้งไตรมาส 3/65 บริษัทฯ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 94.6 ล้านบาท อีกทั้งต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของเงินกู้
บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 99.5 YoY และร้อยละ 96.5 QoQ โดยมีอัตรากำไรสุทธิที่ร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 3/2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมจากการขายอยู่ที่ 4,884.0 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 55 YoY และ 25.3 QoQ อันเนื่องมาจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาถุงมือยางในตลาดโลกจากการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในขณะที่อุปทานโดยรวมได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูง
นอกจากนี้ ปริมาณการขายได้ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.5 YoY และ 16.3 QoQ มาอยู่ที่ 6,381 ล้านชิ้น จากการแข่งขันในตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้การมุ่งเน้นการผลิตถุงมือยางธรรมชาติซึ่งถือเป็นจุดเด่นของบริษัทฯ ที่แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นทำให้บริษัทฯ มี
Product Mix (ถุงมือยางธรรมชาติร้อยละ 74.7: ถุงมือยางไนไตรล์ร้อยละ 25.3) ที่โดดเด่น และแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดโลก
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2565 บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้น 559.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 90.0 YoY และ 57.9 QoQ เป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ยที่อ่อนตัวลง รวมถึงปริมาณการขายที่ปรับตัวลดลง ตามการแข่งขันด้านราคาและอุปทานใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ราคาน้ำยาง NBR ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.3 QoQ (ปรับลดลงร้อยละ 46.3 YoY) ซึ่งบางส่วนเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินบาท ในขณะที่ ต้นทุนวัตถุดิบราคาน้ำยาง NR ปรับลดลงร้อยละ 15.4 QoQ (ปรับลดลงร้อยละ 6.1 YoY) ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น ลดลงจากร้อยละ 51.5 ในไตรมาส 3/64 และร้อยละ 20.3 ในไตรมาส 2/65 มาอยู่ที่ร้อยละ 11.5 ในไตรมาส 3/65
ในไตรมาส 3/65 บริษัทฯ มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 94.6 ล้านบาท และมีอัตรากำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ อยู่ที่ร้อยละ 9.2 ลดลงจากร้อยละ 49 ในไตรมาส 3/64 และจากร้อยละ 16.4 ในไตรมาส 2/65 ขณะที่ต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ ในไตรมาส 3/65 เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.7 YoY และ 10.2 QoQ มาอยู่ที่ 45.8 ล้านบาท อันเนื่องมาจากปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของเงินกู้ รวมถึงสินทรัพย์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นตามความคืบหน้าของโรงงานส่วนขยายที่แล้วเสร็จในไตรมาส 3/65 ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้ยืมดังกล่าวส่วนที่ถูกคำนวณเป็นต้นทุนการก่อสร้าง (capitalisation) ในไตรมาส 3/65 ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ เงินกู้เกือบทั้งหมดเป็นเงินกู้ที่ได้รับการชดเชยดอกเบี้ยจากการยางแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายทางภาษี 13.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 97.0 YoY และ 79.2 QoQ ตามการลดลงของกำไรก่อนภาษีด้วย