ADVANC กำไร 6 พันลบ.ลด 5.4% เจอต้นทุนพลังงานสูง-ลูกค้าเติมเงินชะลอ

HoonSmart.com>>”แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส” แจงผลงานไตรมาส 3/65 มีรายได้รวม 46,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% อัตรา EBITDA Margin ยังคงแข็งแกร่งที่ 48%  แต่กำไรลดลง 5.4% เนื่องจากต้นทุนพลังงานสูง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผู้บริโภคยังไม่มีอารมณ์ใช้จ่าย คาดรายได้ไตรมาส 4 จะกลับมาเติบโตตามไฮซีซั่น ยังคงงบลงุทนไม่รวมคลื่นความถี่ไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ครองตำแหน่งผู้นำคุณภาพโครงข่าย-การให้บริการ 5G

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 3/2565 มีกำไรสุทธิ 6,032 ล้านบาท กำไรหุ้นละ 2.03 บาท ลดลง 342 ล้านบาทหรือ -5.37% เทียบกับที่มีกำไรสุทธิ 6,374 ล้านบาทหรือ 2.14 บาทในช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 4.3% จากไตรมาสก่อน บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 46,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) ที่ 22,091 ล้านบาท ลดลง -3.5% จากปีก่อน และ -1.2% เทียบกับไตรมาสก่อน มีอัตรา EBITDA Margin ยังคงแข็งแกร่งที่ 48%

ส่วนผลงานรวม 9 เดือนปีนี้มีกำไรทั้งสิ้น 19,256 ล้านบาท หรือ 6.27 บาทต่อหุ้น ลดลงจำนวน 1,093 ล้านบาทหรือ -5.37% จากระยะเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 20,349 ล้านบาทหรือ 6.75 บาทต่อหุ้น

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างทั้งภาวะต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ภาคธุรกิจและอารมณ์ของผู้บริโภคก็ยังไม่ได้กลับมาอยู่ในจุดที่จะเป็นแรงขับ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตามบริษัทยังเห็นสัญญาณบวกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของประเทศ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาคึกคักภาครัฐ ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาจัดงานอีเว้นต่างๆ น่าจะเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจ ฟื้นตัวกลับมาได้

ส่วนรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 29,107 ล้านบาท ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แม้ว่าจะมีรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยกดดันหลักเกิดจากลูกค้าระบบเติมเงินลดลงจากไตรมาสก่อน รวมถึงยังมีปัจจัยด้านการแข่งขันที่ยังคงตัวในระดับสูง และยังคงมีการขายแพ็กเกจดาต้าไม่จำกัดในระดับราคาต่ำสำหรับระบบเติมเงิน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อ ARPU

ด้านจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสุทธิ 157,300 เลขหมาย  เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของผู้ใช้บริการแบบรายเดือน ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวมที่ 45.7 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ระบบเติมเงิน 33.3 ล้านเลขหมาย และ ระบบรายเดือน 12.4 ล้านเลขหมาย

ทางด้านการให้บริการ 5G AIS มีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้นแล้วมากกว่า 5.5 ล้านราย เพิ่มขึ้นกว่า 41% จากไตรมาสก่อน จากการพัฒนาและขยายโครงข่าย 5G ด้วยการติดตั้งสถานีฐานที่ใช้งานบนคลื่นความถี่ต่ำและคลื่นความถี่สูงทั่วประเทศ ทำให้เป็นผู้ให้บริการโครงข่าย 5G ที่สามารถให้บริการครอบคลุมแล้วกว่า 85% ของพื้นที่ประชากร สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง

ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน หรือเอไอเอสไฟเบอร์มีรายได้จากการให้บริการเติบโตอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการ โดยรายได้ในไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 2,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะมอบการบริการและคุณภาพที่เป็นเลิศ มุ่งให้บริการที่หลากหลายในแพ็กเกจเดียว หรือ Fixed-MobileConvergence (FMC) เพื่อส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่เหนือกว่าให้แก่ลูกค้า ในไตรมาสนี้มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นกว่า 114,500 ราย ทำให้มีฐานลูกค้ารวมกว่า 2.1 ล้านราย

สำหรับธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรที่นอกเหนือจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้อยู่ที่ 1,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลในภาคองค์กร

“ผลงานรวม 9 เดือนแรก ยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ และรายได้จะกลับมาเติบโตตามแนวโน้มฤดูกาลในไตรมาส 4/2565 (High season) EBITDA ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน จะยังคงปรับตัวลดลงจากภาวะกดดันของต้นทุนการให้บริการ บริษัทฯคงงบประมาณการลงทุนไม่รวมคลื่นความถี่ไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถลงทุนได้เพียงพอต่อการเป็นผู้นำคุณภาพโครงข่าย และการให้บริการ 5G”นายสมชัยกล่าว