HoonSmart.com>>ธปท.ชี้เศรษฐกิจเดือนก.ย.ฟื้น คาดเดือนต.ค.ฟื้นต่อเนื่อง ภาคอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้น ประกาศไม่ต่อเวลาผ่อนคลายมาตรการ LTV ที่จะสิ้นสุด 31 ธ.ค.65 ยืนยันไม่กระทบผู้มีรายได้น้อย ส่วนผู้กู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10% ถึง20% “กอบศักดิ์”เตือนรับมือเศรษฐกิจปี 66 โลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ตุนสภาพคล่อง ลดต้นทุนไม่จำเป็น ด้านหุ้นบวกต่อ 2 จุดยืนเหนือ 1,600 ต่างชาติทุ่มซื้อกว่า 4 ล้านบาท
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า เศรษฐกิจเดือนก.ย.2565 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 1.3 ล้านคน ขณะที่ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) เดินทางเข้าไทยแล้ว 5.68 ล้านคน ส่วนมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ดีขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เพิ่มขึ้นตามรอบการส่งมอบสินค้า และการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำลดลงโดยเฉพาะการนำเข้าชิ้นส่วนและเชื้อเพลิง แต่หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน
ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลกลางหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ และคาดว่าทั้งปีจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 14.5 พันล้านดอลลาร์
ค่าเงินบาทเฉลี่ยกลับมาอ่อนค่าตามเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงครึ่งหลังของเดือนก.ย. เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดการณ์
ส่วนภาพรวมไตรมาส 3/65 เศรษฐกิจ ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน
แนวโน้มเดือน ต.ค. และระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ต้องติดตาม 1) การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2) อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3) การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าในไตรมาส 4 ภาคท่องเที่ยวจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น รายได้จะเริ่มกลับมา ซึ่งจะช่วยทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดทยอยขาดดุลลดลง
ขณะเดียวกันภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ฟื้นตัวดีขึ้น เห็นความต้องการทั้งแนวราบ และคอนโดมิเนียม แต่ก็อาจจะมีความกังวลจากปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น และการสิ้นสุดมาตรการ LTV ในวันที่ 31 ธ.ค.2565 ซึ่งธปท.พิจารณาแล้ว ว่าจะไม่ต่อมาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(LTV)ที่จะหมดอายุลง
“ธปท.ไม่ต่อ LTV เนื่องจากเห็นว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มกลับมาทยอยฟื้นตัว หากเทียบกับยอดจดทะเบียน การโอนบ้านใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 แล้ว ดังนั้นมาตรการนี้มีความจำเป็นน้อยลง อีกทั้งผู้กู้บ้านส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่ซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่สามารถขอสินเชื่อบ้านอยู่ในระดับสูงเต็ม 100% อยู่แล้ว นอกจากนี้ การใช้มาตรการแบบผ่อนปรนไปนานๆ อาจส่งผลกระทบข้างเคียงตามมาได้ในอนาคต เช่น การเก็งกำไรอสังหาฯโดยผู้มีรายได้ปานกลาง ถึงรายได้สูง และจะส่งผลต่อระดับหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต” น.ส.ชญาวดี กล่าว ”
ดังนั้นการยกเลิกมาตรการผ่อนคลาย LTV ทำให้ผู้ขอสินเชื่อบ้าน สัญญา ที่ 1 และสัญญาที่ 2 ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์ LTV เดิ, ที่จะเริ่มมีผลบังคับปีหน้า กำหนดให้สัญญาที่ 1 สำหรับบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยวางดาวน์ต่ำสุดได้ถึง 10% ถึง 0% บวกกู้สินเชื่อ top-up ได้เพิ่มอีก 10% ของมูลค่าบ้าน
ขณะที่สัญญาที่ 2 ต้องวางดาวน์ขั้นต่ำ 10% หากผ่อนสัญญาที่ 1 มากกว่า 2 ปี หรือ 20% หากผ่อนสัญญา 1 น้อยกว่า 2 ปี ส่วนสัญญาที่ 3 วางดาวน์ขั้นต่ำ 30%
ส่วนบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท สัญญาที่ 1 วางดาววางดาวน์ขั้นต่ำ 10% สัญญาที่ 2 วางดาวน์ 20% และสัญญาที่ 3 วางดาวน์ 30%
ก่อนหน้านี้ ธปท. จำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการ LTV โดยเริ่มตั้งแต่ 20 ต.ค.2564 – 31 ธ.ค.2565 เนื่องจากเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 (ช่วงเม.ย.2564) กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ฐานะการเงินของบางภาคธุรกิจและครัวเรือนยังเปราะบาง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงานเพิ่มเติม เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ธปท.พิจารณายุติการเปิดรับการขอความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) หลังจากวันที่ 31 ธ.ค.2565 เป็นต้นไป ซึ่งคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ กำลังอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบวิธี และขั้นตอนการยุติดำเนินการของกองทุนฯ ต่อไป
ทั้งนี้กองทุน BSF ตั้งมาเพื่อช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้ ในช่วงนั้นที่มีความเสี่ยงสูง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด แต่ปัจจุบันสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ไม่เห็นความผิดปกติในตลาดตราสารหนี้ คณะกรรมการกองทุนฯ จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนนี้แล้ว
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในปีหน้าเพียง 2-3% จากปี 2565 ที่คาดไว้ 3-4% เนื่องจากการส่งออกชะลอตัว แต่ได้ปัจจัยสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวจีนที่จะกลับมาท่องเที่ยวในไทยปีหน้า
สิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมตัว คือ ต้องมีสภาพคล่อง เพราะความท้าทายจะมีต่อไปอีกอย่างน้อยปีกว่า ดังนั้น อะไรที่เป็นต้นทุนไม่จำเป็นต้องปรับลดลง และโครงการอะไรที่รอได้ ให้รอไปก่อน การท่องเที่ยวก็ควรชะลอไปก่อน
ตลาดหลักทรัพย์วันที่ 31 ต.ค.2565 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,608.76 จุด เพิ่มขึ้น 2.69 จุด หรือ +0.17% มูลค่าซื้อขาย 55,914.30 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 4,164.85 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยขายมากถึง 3,933.62 ล้านบาท นอกจากนี้ต่างชาติได้ขายตราสารหนี้ – 2,441 ล้านบาท กลุ่มบลจ.ซื้อ 11,187 บาท ด้านค่าเงินบาทปิดที่ 38.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นแกว่งแคบ ช่วงบ่ายดัชนีฯลดช่วงบวกลงจากช่วงเช้าที่ได้แรงหนุนจากตลาดสหรัฐปรับตัวขึ้นหลังตัวเลข PCE ออกมาไม่เร่งขึ้น ทำให้คาดหวังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ หลังจากที่ตัวเลข PMI ภาคการผลิตของจีนออกมาหดตัวลง ทำให้เป็นแรงกดดันตลาดในเอเชีย
ด้านตลาดในยุโรปเทรดบ่ายนี้ติดลบเล็กน้อยเฉลี่ย -0.3% และดาวโจนส์ฟิวเจอร์สติดลบกว่า 100 จุด ในช่วงรอดูผลการประชุมเฟดในวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ โดยตลาดคาดเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% แต่ต้องการรอดูเฟดจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้ กรอบระยะสั้นของดัชนีฯอยู่ที่เส้นค่าเฉลี่ย 200 วันที่ 1,612 จุด ซึ่งตลาดขึ้นทดสอบแต่ยังไม่ผ่าน และหลายปัจจัยผสมกันทั้งบวก-ลบ ทำให้ตลาดแกว่งตัวในกรอบไปก่อน
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันที่ 1 พ.ย.2565 ตลาดคงจะแกว่งแคบไปก่อนในช่วงรอดูผลประชุมเฟด พร้อมให้แนวรับ 1,600 จุด แนวต้าน 1,612-1,615 จุด