AF รุกบริการสินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ ปี 66 ตั้งเป้าปล่อยกู้ 100 ลบ.

HoonSmart.com>> “ไอร่า แฟคตอริ่ง” เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ มุ่งพัฒนาบริการด้านสินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ คาดแล้วเสร็จต้นปี 66 ดัน AF ก้าวสู่การเป็นผู้ให้สินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ ในรูปแบบดิจิทัลรายแรกในประเทศ ตั้งเป้าปล่อยปีแรก 100 ล้านบาท พร้อมจ่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการใหม่ ปี 66 ยกระดับบริการในรูปแบบดิจิทัลครบวงจร

อัครวิทย์ สุกใส

นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) ผู้นำด้านการให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เปิดเผยว่า จากแผนการขับเคลื่อนธุรกิจ บริษัทฯตั้งเป้าเพิ่มช่องทางการให้บริการแบบดิจิทัลรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ที่ต้องการบริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย โดยพัฒนาช่องทางการขอสินเชื่อแฟคตอริ่งแบบออนไลน์ ที่ลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ลดเวลากระบวนการอนุมัติ ด้วย Scoring ทราบผลได้ใน 24 ชม.

นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้บริษัทฯและลูกค้า ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า แผนการพัฒนาดังกล่าวจะเสร็จต้นปี 2566 ซึ่งจะถือว่า AF เป็นผู้ให้บริการแฟคตอริ่งออนไลน์ รายแรก ในกลุ่ม Non-Bank

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทอื่น ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม เพื่อให้บริการลูกค้าได้ครบวงจร ทั้งรูปแบบการให้บริการสินเชื่อหมุนเวียน สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ใช้บริการสินเชื่อกับ AF อยู่แล้ว ตลอดจนให้บริการสินเชื่อโครงการ (Project Finance) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจแบบครบวงจรและขยายบริการสินเชื่อระยะยาวสำหรับขยายกิจการ รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งด้านระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management :CRM) ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งบริการยื่นขอสินเชื่อในรูปแบบใหม่ ภายใต้ “แฟคตอริ่งออนไลน์” จะส่งผลให้ AF ก้าวสู่การเป็นผู้ให้สินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ ในรูปแบบดิจิทัลรายแรกในประเทศไทย

AF ตั้งเป้าให้บริการด้านสินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ ในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรก (ปี 2566-2568) โดยคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ปีแรก ประมาณ 100 ล้านบาทและปล่อยให้ได้ 300 ล้านบาท ใน 2 ปีถัดไป ทั้งนี้ ปัจจุบัน AF มี Factoring Volume ประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ภาพรวมในปี 2565 ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น สัญญาณการบริโภคเพิ่มขึ้น คาดว่ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาพรวมอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตาม GDP จากที่หลายฝ่ายประเมินว่าในปี 2566 GDP ของประเทศไทย มีแนวโน้มเติบโตได้ที่ระดับ 3.5-4.2% ภายใต้สมมติฐานการท่องเที่ยวกลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ ส่งผลให้ภาคบริการปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมีเม็ดเงินลงทุน (FDI) ไหลเข้าจากต่างชาติ ส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น การบริโภคภายในประเทศจึงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้กลุ่มธุรกิจ SME เริ่มมีการผลิตและการขายเพิ่มขึ้น คาดว่าความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น จึงมองว่าธุรกิจแฟคตอริ่งจึงมีโอกาสได้รับอานิสงส์เชิงบวกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ปัจจุบัน AF มี 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ครบทุกมิติ ซึ่งประกอบด้วย 1.สินเชื่อแฟคตอริ่ง, 2.สินเชื่อระยะสั้นไม่เกิน 180 วัน (Exclusive PN) สำหรับลูกค้าเก่าประวัติดี, 3.สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว (Long-Term Investment) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต หรือลงทุนในด้านพลังงานทดแทน เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานของผู้ประกอบการ และ 4.สินเชื่อสำหรับ Supply chain ผู้ซื้อรายใหญ่ (AFP : Account Payable Financing Program) ขณะเดียวกันในปี 2566 AF ยังมีแผนออก Product ใหม่ อย่างน้อย 2 ผลิตภัณฑ์ โดยจะเน้นปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง

นอกจากนี้ AF จะเน้นเพิ่มความถี่ในการทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เกิด Brand Awareness (สร้างการรับรู้แบรนด์) และจะนำมาซึ่งฐานลูกค้าใหม่ๆ พร้อมทั้งเน้นกลยุทธ์ Synergy คือ การทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม “ไอร่า กรุ๊ป” ที่มีกว่า 10 บริษัท และมีฐานลูกค้าต่างอุตสาหกรรมจำนวนมาก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งไปด้วยกัน

“AF ถือเป็นผู้ช่วยทางการเงินที่ดี ในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ด้วยศักยภาพทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นพันธมิตรทางเลือกของผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่ยังเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก อีกทั้งยังเป็นผู้นำในการให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่ง โดยอยู่ใน Top 3 ของประเทศ และยังมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยนวัตกรรมทางการเงินใหม่ จึงมีศักยภาพในการให้บริการที่เป็นเลิศในทุกสภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทาง ESG รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสร้างผลการดำเนินงานและภาพลักษณ์ที่ดีในแง่ของการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทฯ อย่างยั่งยืน” นายอัครวิทย์ กล่าว