AWC จับมือททท.ปั้นเที่ยวไทยยั่งยืนโลก หนุนกำไรสูงระยะยาว-ธุรกิจตั้งหลักวิ่ง

HoonSmart.com>>“ททท.” ผนึก “แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น” และพันธมิตร ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืน AWC ยอมรับช่วงแรกของการลงทุน ต้นทุนสูงกว่าปกติ 20% ระยะยาวให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ประหยัดพลังงาน-ได้กรีนโลนลดดอกเบี้ย เผยกลยุทธ์เจาะลูกค้าระดับบนได้ผล ขายห้องพักได้ราคา 4,900 บาท สูงกว่าก่อนโควิดที่ 4,200 บาท ยอดจองล่วงหน้าทะลักยาวถึงกลางปี 66 เผยงบลงทุน 5 ปี 1 แสนล้าน มีโอกาสสูงซื้อกิจการ 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืน โดยอยู่ระหว่างการยกระดับมาตรฐาน “SHA” ผนึกกำลัง บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) และพันธมิตร  เพื่อชูประเทศไทยก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก (Sustainable Destination) โดยขอเชิญชวนและสนับสนุนผู้ประกอบการมาร่วมรวมพลังดำเนินงานตามกรอบของการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน การจัดการน้ำ การจัดการของเสีย  ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเติบโตอย่างยั่งยืน

” นักท่องเที่ยวที่เข้าพักโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA และได้รางวัลท่องเที่ยวยั่งยืน จะได้รับเหรียญ NFT ซึ่งสามารถนำไปดูคอนเสิร์ต ทานอาหารได้”นายยุทธศักดิ์กล่าว

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เปิดเผยว่า  AWC มุ่งมั่นในพันธกิจ “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า” เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างยั่งยืน เชื่อมั่นว่าการรวมพลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะสามารถร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก

AWC ได้ร่วมมือตอบรับนโยบายกับทาง ททท. พันธมิตรภาครัฐ  รวมถึงพันธมิตรภาคเอกชน สถาบันการเงินชั้นนำ และเครือโรงแรมระดับโลก อาทิ เครือแมริออท บันยันทรี โอกุระ ฮิลตัน IHG และมีเลีย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวยั่งยืนและร่วมผลักดันเพื่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงภาคประชาสังคมและชุมชน เพื่อโครงการต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

” AWC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ความอย่างยั่งยืนตลอดกระบวนการดำเนินงาน และโครงการต่างๆ  อาทิ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล ได้เป็นโรงแรมแห่งแรกของโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 20121 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการจัดงานอย่างยั่งยืน  นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้รับสินเชื่อสีเขียว จากธนาคารโลกและ IFC  ลดต้นทุนดอกเบี้ย ”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในช่วงแรกของการลงทุนเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน จะมีต้นทุนสูงกว่าปกติประมาณ 20% แต่จะส่งผลดีระยะยาว ช่วยประพลังงานทำให้ผลตอบแทนโดยรวมดีขึ้น

นอกจากนี้โมเดลธุรกิจโรงแรมที่จับลูกค้ากลุ่มบน ได้รับผลตอบรับที่ดี ปัจจุบันสามารถขายห้องพักได้ราคา 4,900 บาท สูงกว่าก่อนเกิดโควิดที่ 4,200 บาท แนวโน้มโรงแรมในเครือ จำนวน 19 แห่งในช่วงไตรมาส 4  โดยเฉพาะในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.  ซึ่งเป็นไฮซีซั่นการท่องเที่ยว เห็นสัญญาณการจองล่วงหน้าเข้ามาเป็นจำนวนมากยาวถึงกลางปี 2566  ขณะเดียวกันอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 60% จากระดับ 50% ในช่วงไตรมาส 3 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากระดับ 30-40% ช่วงต้นปี อานิสงส์บวกของการเปิดประเทศ และคาดว่าจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นอีกในปี 66

ส่วนพื้นที่เช่าอาคารสำนักงานทั้ง 4 แห่ง ยังคงมีอัตราการเช่าที่สูงต่อเนื่องกว่า 90% ส่วนศูนย์การค้ากลับมามีอัตราการเช่าที่ดีขึ้นหลังการเปิดเมือง ทำให้มีผู้เข้ามาใช้บริการจับจ่ายใช้สอย ทานอาหาร และพักผ่อนในศูนย์การค้ามากขึ้น ส่งผลให้เริ่มมีผู้ประกอบการทยอยกลับเข้ามาเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้ามากขึ้น แต่อาจจะยังรอเวลาอีกสักระยะกว่าพื้นที่เช่าศูนย์การค้าจะฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ โดยเฉพาะเอเชียทีคที่ยังคงต้องรอนักท่องเที่ยวจีนกลับมา

ด้านการลงทุน บริษัทเตรียมงบประมาณไว้ที่ 1 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปี (2565-2569) ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างโครงการต่างๆ ทำให้บริษัทต้องประเมินและพิจารณาต้นทุนใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และความเหมาะสมของฐานะการเงินของบริษัท  แต่ก็มองเห็นโอกาสในการซื้อกิจการที่มีความเป็นไปได้สูง ปัจจุบันกำลังพิจารณาอยู่กว่า 200 โครงการ