HoonSmart.com>> “บลจ.กรุงศรี” มองแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศตะวันตกหดตัว-เข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วน “เอเชีย-กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่” คาดกลับมาโตดี เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แรงส่งความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แนะ “หุ้นญี่ปุ่น-จีน-เวียดนาม” ชะลอ “หุ้นยุโรป” ฟากหุ้นสหรัฐฯ ผันผวน ชู “หุ้นไทย” โดดเด่นเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีสวนเศรษฐกิจโลก แนะลงทุนหุ้น defensive ส่วนกองลดภาษี SSF-RMF เน้นภูมิภาคที่น่าสนใจ-ธีมที่มีโอกาสเติบโต
นางสุภาพร ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพรวมของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจน เห็นได้จากธนาคารกลางหลายประเทศได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้เงินเฟ้อในประเทศอื่นๆเร่งตัวขึ้นตามไปด้วย การที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกมาจากปัญหาด้าน supply จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยรัสเซียและจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกต่างส่งออกได้น้อยลง ซึ่งเป็นผลจากสงครามและการล็อคดาวน์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อจะชะลอลงในปีหน้าจากผลของฐานที่สูงขึ้น และหน่วยงานต่างๆ จะทยอยปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกในเร็วๆ นี้ การเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้าจะมีความแตกต่างกัน โดยเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกมีแนวโน้มหดตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มกลับมาเติบโตดี เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว และมีแรงส่งจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (pent-up demand)
สำหรับมุมมองการลงทุนที่มีต่อสหรัฐอเมริกานั้น คาดว่ามีแนวโน้มที่ความผันผวนจะเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนว่าดอกเบี้ยจะไปแตะจุดสูงสุดที่ระดับใด ความเสี่ยงขาลงยังคงมีอยู่สูง ทั้งนี้ข้อมูลในอดีตบ่งชี้ว่าในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ตลาดหุ้นสหรัฐอาจปรับตัวลงอีกอย่างน้อย 10% จากระดับปัจจุบัน และเฟดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอาจขยายตัวเพียง 0.2% ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัว 1.2% ในปีหน้า ด้านเงินเฟ้อสหรัฐจะทยอยปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันที่ลดลง โดยค่าแรงที่เพิ่มราว 5% ในปีนี้และเงินเฟ้อที่ขยายตัวเป็นวงกว้างจะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอลงช้า การแข็งค่าของดอลลาร์ช่วยลดแรงกดดันเดินเฟ้อได้บ้าง ดังนั้นหากดอลลาร์อ่อนค่าลงเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้น
ส่วนยุโรปยังคงมีความเสี่ยงสูงจากหลายปัจจัย และยังไม่เห็นว่าปัญหาจะยุติเมื่อใด จึงแนะนำให้ชะลอการลงทุนในภูมิภาคนี้ เพราะมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงมาก ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจอาจเริ่มหดตัวตั้งแต่ไตรมาส 3/65 จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และปัญหาวิกฤตพลังงาน ภัยแล้ง การขาดแคลนอาหาร และการขาดแคลนอุปทาน อีกทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงอาจนำไปสู่การประท้วงที่รุนแรงในหลายประเทศ
สำหรับญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนจะส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในต่างประเทศส่งเงินกลับประเทศเป็นเงินเยนได้มากขึ้น และธนาคารกลางญี่ปุ่นยืนยันที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปเพื่อหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ และการเปิดประเทศเต็มรูปแบบจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ประเทศจีนยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นกัน จากการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว ราคาหุ้นปรับลงมามาก มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยล่าสุดอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ การผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิด และการเปิดประเทศ จะส่งผลให้จีนกลับมาเติบโตได้ดี และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ประเทศจีนไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นผลจากการล็อคดาวน์เป็นหลัก อย่างไรก็ตามปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวันยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด
สำหรับประเทศเวียดนาม มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยไตรมาสล่าสุดมีการเติบโตของ GDP สูงถึง 13% การบริโภคภายในประเทศเติบโตสูงถึง 50% มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หุ้นมีราคาถูกอีกด้วย
ส่วนประเทศไทยนั้นมีภาพรวมที่น่าสนใจที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่คาดและโตสวนทางกับเศรษฐกิจโลกโดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก ซึ่งสะท้อนว่าเครื่องจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อเนื่อง ด้านการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ดีในทุกตลาด ยกเว้นตลาดจีน หากจีนผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ เพื่อให้ดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติ
ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ควรเน้นลงทุนในกองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรอให้ตลาดมีความชัดเจนมากกว่านี้ นอกจากนี้การลงทุนในหุ้น defensive ที่มีความทนทานต่อภาวะตลาดก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
“การลงทุนให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและธีมการลงทุนที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคตจะช่วยเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะ ผู้สนใจลงทุนในกองทุนที่ให้สิทธิลดภาษีได้แก่ SSF และ RMF ควรพิจาณาลงทุนในภูมิภาคที่น่าสนใจหรือธีมที่มีโอกาสเติบโตควบคู่ไปกับระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ หากรับความเสี่ยงได้สูง อาจเลือก SSF | RMF ที่ลงทุนในหุ้นไทยที่เป็นบริษัทใหญ่ใน SET100 คือ KFS100SSF/ KFS100RMF หรือ KFCMEGASSF/ KFCMEGARMF ที่ลงทุนในกลุ่มบริษัทเมกะเทรนด์ของจีน KFVIETSSF / KFVIETRMF ที่ลงทุนในหุ้นเวียดนาม KFGBRANSSF / KFGBRANRMF ลงทุนในแบรนด์ที่แข็งแกร่งและมีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก หรือ KFESGSSF / KFESGRMF ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพสูงและสอดคล้องกับธีมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก 193 ประเทศทั่วโลก และเม็ดเงินลงทุนในธีม ESG ยังคงเป็นบวกในขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นปรับลดลง หรือถ้าไม่อยากเสี่ยงมากก็กระจายมาลงทุนใน SSF | RMF กลุ่มตราสารหนี้อย่าง KFAFIXSSF / KFAFIXRMF เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตในภาพรวมได้” นางสุภาพร กล่าว
สอบถามเพิ่มเติมพร้อมขอข้อมูลหนังสือชี้ชวนได้ที่บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757 หรือ www.krungsriasset.com หรือ ติดต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา
SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม | RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ
ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
KFAFIXSSF / KFAFIXRMF ลงทุนในตราสารหนี้หลากหลายประเภทโดยไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้แต่ละประเภท ระดับความเสี่ยงกองทุน 4 : เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
KFS100SSF/ KFS100RMF ลงทุนในหุ้น SET 100 โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
ระดับความเสี่ยงกองทุน 6: เสี่ยงสูง
KFCMEGASSF / KFCMEGARMF ลงทุนในกองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าเมกะเทรนด์ (KFCMEGA) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ≥ 80% ของ NAV ซึ่งได้ลงทุนในกองทุนรวม /ETF ต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในประเทศจีน หรือมีธุรกิจหลักในประเทศจีนซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเมกะเทรนด์
ระดับความเสี่ยงกองทุน 6 : เสี่ยงสูง – กองทุนป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
KFESGSSF/ KFESGRMF ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ AB Sustainable Global Thematic Portfolio โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ≥ 80% ของ NAV
ระดับความเสี่ยงกองทุน 6 : เสี่ยงสูง – ป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
KFGBRANSSF / KFGBRANRMF ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ Morgan Stanley Investment Funds โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ≥ 80% ของ NAV
ระดับความเสี่ยงกองทุน 6 : เสี่ยงสูง – กองทุนป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
KFVIETSSF/ KFVIETRMF ลงทุนในกองทุนเปิดกรุงศรีเวียดนามอิควิตี้ (KFVIET) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ≥ 80% ของ NAV ซึ่งมีการจัดสรรน้ำหนักการลงทุนทั้งในกองทุนแบบ Active และ Passive เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด
ระดับความเสี่ยงกองทุน 6 : เสี่ยงสูง – กองทุนป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
กองทุนมีการลงทุนกระจุกตัวในประเทศเวียดนาม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก