HoonSmart.com>>ปตท.สผ. เผยไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิ 24,172 ล้านบาท พุ่งแรง 153% รวม 9 เดือนฟันกำไร 55,291 ล้านบาท เติบโตถึง 95.94% พร้อมนำส่งรายได้ให้กับรัฐประมาณ 70,000 ล้านบาท มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน หุ้นบวก 1 บาทปิดที่ 173.50 บาท
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยผลงานไตรมาสที่ 3/2565 มีกำไรสุทธิ 24,171.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 153% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้จำนวน 9,545 ล้านบาท รวม 9 เดือน กำไรทั้งสิ้น 55,290.75 ล้านบาท เติบโตถึง 95.94% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรจำนวน 28,218 ล้านบาท
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ผลดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2565 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 664 ล้านดอลลาร์ สรอ. (ประมาณ 24,172 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 64 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งมีกำไรสุทธิ 600 ล้านดอลลาร์ สรอ. (ประมาณ 20,600 ล้านบาท) และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ 76% ซึ่งเป็นตามที่คาดการณ์ไว้
บริษัทฯมีรายได้รวม 2,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 95,292 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 148 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับรายได้รวม 2,469 ล้านดอลลาร์ สรอ. (ประมาณ 84,955 ล้านบาท) ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 478,323 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 465,459 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในไตรมาสที่แล้ว หลักๆ มาจากโครงการจี 1/61 หลังจากเข้าเป็นผู้ดำเนินการเมื่อปลายเดือนเม.ย.2565 และจากโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งได้เพิ่มปริมาณการผลิต รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ
ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยปรับลดลงจาก 55.61 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 53.68 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก บริษัทมีผลกำไรจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน จำนวน 94 ล้านดอลลาร์ สรอ. (ประมาณ 3,415 ล้านบาท)
สำหรับการขยายการลงทุนในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ในไตรมาสนี้ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับบริษัทในอนาคต อีกทั้ง ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยหลักมาจากการเข้าซื้อโครงการโอมาน แปลง 61 ในเดือนมี.ค.ปีก่อน
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2565 ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณการขาย ราคาขายและต้นทุน บริษัทคาดปริมาณการขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 468,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เติบโตจากปี 2564 ด้านราคาขาย ราคาน้ำมันดิบของบริษัทจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน าดว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยสำหรับปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 6.3 ดอลลาร์ สรอ. ต่อล้านบีทียูเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เป็นผลจากการปรับราคาย้อนหลังของราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้สะท้อนช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 มีปริมาณน้ำมันในส่วนที่บริษัทได้เข้าทำสัญญาประกันความเสี่ยงไว้สำหรับไตรมาส 4 และปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 5.05 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม
ส่วนต้นทุนสำหรับปี 2565 คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 29-30 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 โดยหลักจากรายจ่ายค่าภาคหลวงต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นตามราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมของโครงการจี 1/61 ที่บริษัทเพิ่งเข้าเป็นผู้ดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
ในรอบ 9 เดือนของปี 2565 ปตท.สผ. ได้นำรายได้ส่งให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
สำหรับการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำนั้น ปตท.สผ. ได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 หนึ่งในนั้นคือโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ปัจจุบัน ปตท.สผ. อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย รวมทั้ง ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ปตท.สผ. ยังได้ร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรม ปตท. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการผลิตท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes หรือ CNTs) จากก๊าซส่วนเกินในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม หรือ Flare gas ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) โดย CNTs เป็นวัสดุแห่งอนาคตที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ อุปกรณ์กักเก็บพลังงานอื่น ๆ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ปัจจุบัน ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อทดสอบการผลิตท่อนาโนคาร์บอนในโรงงานนำร่อง (Pilot Plant) ซึ่งวางแผนติดตั้งที่โครงการเอส 1 ในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมองแนวทางการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน จำนวน 45,000 ไร่ ภายในปี 2573 โดยบริษัทได้เริ่มปลูกไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน ประมาณ 5,000 ไร่ และจะปลูกอย่างต่อเนื่องปีละ 5,000 ไร่ พร้อมบำรุงรักษาไปจนถึงปี 2582 จากประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2582 จะอยู่ที่ประมาณ 1.113 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ด้านราคาหุ้น PTTEP ปิดที่ 173.50 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาทหรือ +0.58% รับกำไรเติบโตก้าวกระโดด