DITTO ควัก 160 ล้านปลูกป่าศึกษาออกบอนด์ ทาบชุมชน เจาะ “อบจ.-อบต.” 8 พันแห่ง

HoonSmart.com>>DITTO ควัก 160 ล้านปลูกป่า ทาบชุมชนเข้าร่วม เจาะ “อบจ.-อบต.” 8 พันแห่ง  เร่งเดินหน้าปลูกป่าชายเลน กำเงิน 160 ล้าน ทีมงาน เตรียมทาบ “ชุมชน” ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ตั้งเป้า 1 แสนไร่ เผยกำลังศึกษาออกบอนด์-โทเคนระดมทุน เฮรับข่าวดี พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์บังคับใช้ ตั้งทีมเจาะองค์กรท้องถิ่น 8 พันแห่ง

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ ประเทศไทย จำกัด (DITTO) เปิดเผยในงาน “BLS Carbon credit Steering toward sustainable growth” จัดโดย บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง ว่าดิทโต้ได้ให้ความสนใจในธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาโดยตลอด ล่าสุด บ.สยาม ทีซี เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้รับใบอนุญาตให้เข้าไปดูแลรักษาป่าชายเลน 11,448.3 ไร่เป็นเวลา 30 ปี เพื่อใช้ประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิต และบริษัทจะไปเจรจากับชุมชนบริเวณที่ได้สิทธิ์ในการปลูกป่าเพื่อจะเข้ามาร่วมลงทุนและช่วยบริหารจัดการซึ่งทางบริษัทตั้งเป้าปลูกป่าถึง 1 แสนไร่

สาเหตุที่ดิทโต้สนใจธุรกิจนี้สืบเนื่องมาจาก ก่อนหน้านี้มีการดำเนินธุรกิจที่ช่วยเรื่องลดโลกร้อน ทั้งธุรกิจบริหารจัดการเอกสารและข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล “Data & Document Management Solutions” ซึ่งมีส่วนช่วยลดการใช้กระดาษ ทำให้ลดการตัดต้นไม้ลงได้ ซึ่งการลดการใช้กระดาษสามารถนำไปคำนวณคาร์บอนเครดิตได้

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่ม นวัตกรรม วิศวกรรมและเทคโนโลยี โดย บ.สยาม ทีซีเทคโนโลยี มีโครงการบริหารจัดการคัดแยกขยะ ที่สามารถช่วยลดขยะและนำมาคำนวณคาร์บอนเครดิตได้ ทุกวันนี้ ดิทโต้ ได้เข้าไปบริหารจัดการคัดแยกขยะให้กับ อบจ. แห่งหนึ่งจำนวน 160 ตันต่อวันซึ่งคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต 0.5 – 0.6 ต่อตันต่อวัน หากรวมทั้งปีก็ไม่น้อย และยังได้ค่าบริหารจัดการอีกด้วย

นายฐกร กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับดิทโต้ ก่อนที่จะมาโฟกัสด้านกรีนเทคโนโลยี ก็มีประสบการณ์ มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ มาพอสมควร ด้าน บ.สยาม ทีซี เทคโนโลยี ก็มีความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำมาก่อนจึงสนใจในเรื่องปลูกป่าเพื่อใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตโดยศึกษาเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว

ตอนนี้ ดิทโต้มีความพร้อมทั้ง บุคลากร รวมถึงต้นกล้าที่จะนำมาปลูก เงินลงทุนราว 150 – 160 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายปีละ 30 – 35 ล้านบาทสำหรับดูแลรักษาป่าและช่วยสร้างงานให้คนในชุมชนก็เตรียมไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็กำลังศึกษาวิธีการระดมทุนในรูปแบบอื่น เช่นการออกบอนด์ หรือ โทเคน โดยเปิดให้ภาคธุรกิจที่ต้องใช้คาร์บอนเครดิตจองล่วงหน้า ถ้าสำเร็จอาจจะไม่ต้องใช้เงินบริษัทในการลงทุน

“ส่วนในอนาคต เชื่อว่าราคาคาร์บอนเครดิตจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลกที่เอาจริงกับปัญหาโลกร้อน รวมถึงการที่ประเทศผู้นำเข้าบังคับให้ผู้ส่งออกต้องเสียภาษีตามมาตรการ CBAM หากไม่สามารถลดคาร์บอนได้และทราบว่าอีก 2 ปี ประเทศไทยก็จะออกกฎหมายเป็นภาคบังคับเช่นกัน อีกทั้งคาร์บอนเครดิตที่ได้จากป่าชายเลนเรียกว่า บลูคาร์บอน มีราคาสูงกว่าที่ได้จากแหล่งอื่น ๆ” นายฐกรกล่าว

นายฐกร กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากประกาศ ทำให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการเอกสารให้เป็นระบบดิจิทัลได้แบบมีกฎหมายรองรับ ซึ่งมูลค่ารวมของการปรับการทำงานของหน่วยงานราชการให้กลายเป็นดิจิทัลทั้งระบบนั้น คาดว่ามูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ทางบริษัทจะเน้นการตลาดไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. ทั่วประเทศกว่า 8 พันแห่ง คาดว่ามูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 – 4 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ทดลองบุกตลาดมาระยะหนึ่งแล้วโดยจัดทีมขาย เข้าไปขายโดยตรงและได้ร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทในต่างจังหวัดซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพราะองค์กรเหล่านี้เป็นลูกค้าอยู่แล้วทำให้ขายง่ายขึ้น