กูรูเคาะเป้า DTCENT 3.06 – 3.30 บ./หุ้น ชูจุดเด่นกำไร 2 ปีโต 46-52% ต่อปี

HoonSmart.com>>4 นักวิเคราะห์เคาะราคาเป้าหมาย “ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์” เฉลี่ย 3.06 – 3.30 บาท/หุ้น ชูจุดเด่นผู้นำระบบติดตามยานพาหนะ GPS เบอร์ 1 ของไทย ดำเนินธุรกิจนานกว่า 25 ปี มี 2 พันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทั้ง YAZAKI – BOON RAWD Supply Chain มีสินค้าบริการและ Solution ครบวงจร ประเมินกำไรปี 65-66 เติบโตเฉลี่ย 46-52% ต่อปี

บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ (DTCENT) ผู้นำด้าน GPS Tracking มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในประเทศไทย เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก(IPO) จำนวน 305 ล้านหุ้น เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ภายในปี 2565 โดยบริษัทหลักทรัพย์(บล.) โกลเบล็ก ออกบทวิเคราะห์ประเมินราคาเหมาะสมด้วยวิธี Prospective PER เทียบกับกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการอุปกรณ์และระบบ Global Positioning System (GPS) ที่ระดับ 24 เท่า ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ประกอบกับคาดกำไรสุทธิต่อหุ้นปี 2566 ราว 0.14 บาทต่อหุ้น คำนวณเป็นราคาเหมาะสมราว 3.30 บาท

ทั้งนี้คาดการณ์รายได้ปี 2565-2566 ราว 702 ล้านบาท +20% จากปีก่อน และ 977 ล้านบาท +39% ตามลำดับ หรือเติบโตเฉลี่ย CAGR 29% ต่อปี

ส่วนปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจาก 1. ธุรกิจ GPS Tracking ฟื้นตัวตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง 2.รายได้จากกลุ่มบริษัทย่อยที่จำหน่าย Software และ Application ใหม่ปีนี้ และ 3.กลุ่มงาน IoT Solution ของภาครัฐ เริ่มเปิดประมูลมากขึ้น ส่วนสมมติฐาน %GPM คาดที่ระดับ 49-50% อ่อนลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ 56% จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรม ประกอบกับงาน IoT Solution ที่มาร์จิ้นราว 30% มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ %SG&A คาดจะปรับลดลงมาที่ระดับ 27-31% จากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ 34% จากการประหยัดจากขนาด ส่งผลให้คาดการณ์กำไรปี 2565-2566 ราว 106 ล้านบาท +38% จากปีก่อน และ 165 ล้านบาท +55% ตามลำดับ หรือเติบโตเฉลี่ย CAGR 46% ต่อปี

บล.เอเอสแอล เปิดเผยว่า DTCENT มีจุดแข็งหลักคือความเป็นผู้นำของการให้บริการระบบอุปกรณ์ GPS ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ขณะที่แนวโน้มจำนวนรถที่ติดตั้ง GPS Tracking เติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้ปัจจัยบวกจากการออกข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้รถโดยสารทุกประเภทและรถตู้ ที่จดทะเบียนใหม่ต้องติดตั้งระบบ GPS ขณะที่ธุรกิจ IoT Solution ยังมีโอกาสเติบโตได้สูงจากมูลค่าตลาดอุตสาหกรรม IoT กำลังจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเติบโตเนื่องจากความพร้อมของ Digital Infrastructure ที่เริ่มใช้ 5G และนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ

DTCENT ได้จับมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งได้แก่ 1. YAZAKI ที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานพาหนะ สายไฟ และสายเคเบิ้ล อันดับ 1 ของญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทในเครือกว่า 140 แห่ง ใน 45 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นโอกาสอันดีของบริษัทที่จะทำการตลาดและขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และ 2. BOON RAWD Supply Chain ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบุญรอดบริวเวอรี่ ผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มในไทย บริษัทจะร่วมกันพัฒนา Supply Chain Solution เพื่อบริหารจัดการต้นทุนและเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากแนวโน้มต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น ทำให้หลายหน่วยงานมีความต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารต้นทุน รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงบริษัทในเครือของบุญรอดบริวเวอรี่ เพื่อพัฒนา Solution อื่นๆ ถือเป็น upside ในอนาคต

บล.เอเอสแอลประมาณรายได้ของ DTCENT ในปี 2565-2567 เท่ากับ 709.1 ล้านบาท (+21.1%จากปีก่อน), 1,013.2 ล้านบาท (+42.9%) และ 1,144.7 ล้านบาท (+13.0%) คิดเป็น CAGR ในช่วง 3 ปี เท่ากับ 27.1% ซึ่งรายได้จากการขายเติบโตโดดเด่นจากโครงการ และงาน IoT ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยจะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยยะในปี 2566 ด้านอัตรากำไรขั้นต้น มองว่าจะกลับไปสู่ระดับที่เหนือกว่า 50% ส่วนกำไรสุทธิในปี 2565-2567 ได้คาดการณ์ที่ระดับ 86.83 ล้านบาท (+12.4%), 157.2 ล้านบาท (+81.0%) และ 201.6 ล้านบาท (+28.3%) ตามลำดับ ด้านอัตรากำไรสุทธิ ปรับตัวขึ้นที่ระดับ 12.2%, 15.5% และ 17.6% ตามลำดับ

ทั้งนี้ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมสิ้นปี 2566 เท่ากับ 3.24 บาท อิง Justified PE ที่ระดับ 24.87 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย P/E ของกลุ่ม SETTECH ที่ระดับ 26.54 เท่า ซึ่งมองว่ามีความน่าสนใจ เมื่อเทียบกับการเติบโตเฉลี่ย CAGR ของกำไรสุทธิในปี 2565 – 2566 ที่ระดับ 52.4% โดยมาจากแนวโน้มผลประกอบการที่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2564 มาพร้อมกับแนวโน้มของธุรกิจที่เติบโต โดยเฉพาะการให้บริการ IoT รวมถึงยังมี Upside จากการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ YES และ BRS ที่จะเกิด synergy ต่างๆ ในอนาคต

บล. ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า บริษัท DTCENT มีสินค้า บริการและ Solution ที่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่การออกแบบสินค้า พัฒนาสินค้าทั้ง Hardware, Software และ Application ตลอดจนการซ่อมบำรุงหลังการขาย บริษัทดำเนินธุรกิจนานกว่า 25 ปี มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจลูกค้าเป็นอย่างดี มีลูกค้ากระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีลูกค้าหลักคือกลุ่มที่ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้า

คาดกำไรสุทธิปี 2565 ฟื้น 31.8% จากปีก่อน และก้าวกระโดด 118.7% ในปี 2566 และโตต่อเนื่อง 5.2% ในปี 2567 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 51.7% CAGR (2022-2024) จากธุรกิจหลักเดิม และการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมการเพิ่มขึ้นของโครงการ IoT โดยอาศัยประสบการณ์กว่า 25 ของบริษัทและพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างกลุ่มยาซากิและเครือบุญรอด

ประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมสำหรับปี 2566 ที่ 3.20 บาทอิง PE 17.0 เท่า ไม่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายใดที่ทำธุรกิจเหมือนกับ DTC อิงผู้ประกอบการในโลกที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกับบริษัท เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์ GPS, ผู้ผลิต Hardware และ Software ในระบบยานยนต์, ผู้ผลิตอุปกรณ์กล้อง เป็นต้น บริษัทเหล่านี้มีค่า PE เฉลี่ยในปี 2566 ที่ 17.8 เท่า โดยหลายรายมีความสามารถในการทำกำไรไม่เทียบเท่าบริษัท ขณะที่ค่าเฉลี่ย ROE ใกล้เคียงกัน

บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินราคาเป้าหมายในปี 2566 ของ DTCENT ไว้ที่ 3.06 บาท จากการคาดการณ์กำไรต่อหุ้นในปี 2565 (หลังเพิ่มทุน) อยู่ที่ 0.08 บาทต่อหุ้น และปี 2566 ที่ 0.13 บาทต่อหุ้น โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมของ DTCENT จากวิธี PE ที่ระดับ 23xPE (+1.5S.D.) เนื่องจากธุรกิจมีการเติบโตที่ดีกว่าอุตสาหกรรม ขณะที่คาดว่าบริษัทจะจ่ายเงินปันผลในปี 2565 และ 2566 ในอัตรา 0.023 บาท และ 0.039 บาท (สมมติฐานนโยบายการจ่ายเงินปันผล)

โดยคาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิในปี 2565 อยู่ที่ 93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.8% และปี 2566 น่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 159 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% โดยการเติบโตมาจากการขยายงาน IoT ซึ่งเป็นแผนการขยายการลงทุนของบริษัท ซึ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาจากการระดมทุนผ่านการทำ IPO ในครั้งนี้ มีมุมมองเป็นบวกต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคตที่จะมาจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการขยายงานให้บริการพัฒนาโครงการ IoT Solution กับภาครัฐฯ ได้แก่ โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในเขตเทศบาลในจังหวัดต่างๆ รวมไปถึงการขยายตลาดต่างประเทศ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2567 มองเป็น Upside Potential ของบริษัทในระยะยาว