PCC เทรดวันแรกเหนือจอง สะท้อนความเชื่อมั่นนลท.

HoonSmart.com>> PCC เปิดเทรดวันแรกราคาเหนือจอง 0.5% สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ฟากซีอีโอ “กิตติ สัมฤทธิ์” โชว์ Backlog กว่า 2.3 พันล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ปี 65-66 พร้อมเดินหน้าขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า-ตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า-ตู้โลหะสำหรับสวิตช์เกียร์ รองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น คาดเริ่มรับรู้รายได้จากโรงงานผลิตในกัมพูชา ในต้นปี 66 หนุนผลงานโตกระฉูด

หุ้นบริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรม ทรัพยากร พลังงานและสาธารณูปโภค เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2565 เป็นวันแรก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปอย่างดีเยี่ยม โดยเปิดซื้อขายที่ 4.02 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.5% จากราคาไอพีโอที่ 4.00 บาท/หุ้น

นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) เปิดเผยว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีมูลค่าการซื้อขายคึกคักอย่างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ถือเป็นหุ้นตัวแรกที่ดำเนินธุรกิจที่เน้นระบบส่งและจำหน่าย Smart Grid ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้า จากการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยของการไฟฟ้า ซึ่งมีแผนการลงทุน(2558-2579) เกือบ 2 แสนล้านบาท

ประกอบกับ ปัจจุบันบริษัทฯมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่กว่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ใน 2565-2566 พร้อมกันนี้ ยังมีแผนขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายอีก 3 เท่า หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรวมประมาณ 1,080 MVA ต่อปี ภายในปี 2567 และเพิ่มกำลังการผลิตตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า จากกำลังการผลิตประมาณ 2,000 ถังต่อปี เพิ่มเป็นประมาณ 7,500 ถังต่อปีและเพิ่มกำลังการผลิตตู้โลหะสำหรับ ตู้สวิตช์เกียร์ และตู้สวิตช์บอร์ด อุปกรณ์ควบคุม จากกำลังการผลิตประมาณ 2,000 ตู้ต่อปี เพิ่มเป็นประมาณ 3,200 ตู้ต่อปี ส่วนโครงการโรงงานผลิตหม้อแปลง และตู้ควบคุมไฟฟ้า ในประเทศกัมพูชา คาดว่าเริ่มผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ได้ในต้นปี 2566 โดยทำให้บริษัทฯจะเริ่มรับรู้รายได้จากกัมพูชาเข้ามาตั้งแต่ปีหน้า

“ผมขอขอบคุณนักลงทุนที่ให้การตอบรับหุ้น PCC เป็นอย่างดี ผมในฐานะผู้นำขององค์กรได้ทำงานอยู่ในธุรกิจนี้มาเกือบ 40 ปี มีความเชื่อมั่นในธุรกิจ smart grid technology platform ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบสาธารณูปโภคพลังงานไฟฟ้าของประเทศและได้มีพันธะสัญญาระหว่างประเทศในโลกตามกฎเกณฑ์เรื่องแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ผมเชื่อมั่นว่าเรามีความพร้อมในทางวิศวกรรมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและขยายธุรกิจให้มีศักยภาพการเติบโตต่อไปข้างหน้า และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นต่อไปได้ในอนาคต”นายกิตติ กล่าว

นายปาลธรรม เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส วาณิชธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า การเข้าเทรดในวันแรกของ PCC ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯที่มีความแข็งแกร่ง โดยเม็ดเงินที่ได้จากการเสนอขายไอพีโอในครั้งนี้ จะใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการในอนาคตอื่น อาทิ โครงการศูนย์การขายและการตลาด (Group Integration Sale & Marketing Center) เพื่อขยายยอดขายของกลุ่มบริษัท เนื่องจากบริษัทเพิ่ม scale ของการผลิตในสินค้าเดิมและขยายสินค้าใหม่ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 นอกจากนี้ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯมีฐานทุนรองรับธุรกิจ ให้สามารถเติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต

นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เชื่อว่า PCC จะเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนในอนาคต เนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโตจากแผนลงทุนของการไฟฟ้า จากการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยของการไฟฟ้า ซึ่งมีแผนการลงทุน(2558-2579) เกือบ 2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ มองว่า PCC เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความมั่นคงทางด้านรายได้ ซึ่งบริษัทฯสามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอทั้งในส่วนการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้า งานรับเหมาก่อสร้าง และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และมี Backlog ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนต่างๆ และการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานกัมพูชา