ก.ล.ต.ไทยร่วมประชุมเวทีระดับนานาชาติประจำปี

HoonSmart.com>> ก.ล.ต. ไทยเข้าร่วมประชุมเวทีระดับนานาชาติประจำปี (IOSCO Annual Meeting) ในระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2565 ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก

นางสาวรื่นวดี  สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานสมาชิกรวม 12 หน่วยงาน ร่วมลงนามใน APRC Supervisory MMoU ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือใหม่ในภูมิภาคที่มีความสำคัญ และจะเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อการยกระดับการกำกับดูแลระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย Mr.Martin Moloney เลขาธิการ IOSCO (ที่สองจากซ้าย) ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก

ในวันที่ 17 ต.ค. 2565 นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Asia-Pacific Regional Committee (APRC) เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกในประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน APRC และทั่วโลกให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) ข้อกำหนดมาตรฐานด้านการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) (2) แนวทางการกำกับดูแลและออกกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศให้มีความสอดคล้องกันเพื่อป้องกัน market fragmentation และ (3) Fintech

ในการประชุม APRC สมาชิกหลายประเทศให้ความสนใจในเรื่องการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนรายย่อยที่ทำการซื้อขาย crypto โดยเลขาธิการได้แลกเปลี่ยนพัฒนาการด้านการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งล่าสุดได้มีการทำ public hearing เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนมูลค่าขั้นต่ำของการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล (minimum purchase) ในแต่ละธุรกรรม และมีการยกระดับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานสมาชิกรวม 12 หน่วยงาน* ยังได้มีการลงนามใน APRC Supervisory MMoU ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือใหม่ในภูมิภาคที่มีความสำคัญ และจะเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อการยกระดับการกำกับดูแลระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เลขาธิการและผู้บริหาร ยังเข้าร่วมประชุม Growth and Emerging Markets Committee (GEMC) ซึ่งประเทศสมาชิกยังได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการของคณะทำงานด้าน sustainable finance และความท้าทายในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลอีกด้วย

สำหรับหน่วยงานสมาชิกรวม 12 หน่วยงาน ได้แก่ ASIC Australia, FSA Japan, MAFF Japan, METI Japan, SC Malaysia, FRC Mongolia, FMA New Zealand, FSC Chinese Taipei, SEC Thailand, MAS Singapore, SFC Hong Kong, BSEC Bangladesh