BBIK รุกตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้เต็มสูบ ปักหมุดธุรกิจปลอดภัยโตไม่สะดุด

HoonSmart.com>>บลูบิค กรุ๊ป เดินหน้าบุกตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้ หลังบอร์ดอนุมัติตั้งบริษัทย่อย บลูบิค ไททันส์ จำกัด พร้อมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี ร่วมทัพให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แบบครบวงจร หวังสร้างมาตรฐานดิจิทัล ทรัสต์ (Digital Trust) ให้องค์กรธุรกิจ รองรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่ต้องทำควบคู่กับการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (BBIK) กล่าวว่า ในปัจจุบันอุบัติการณ์ทางไซเบอร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ เนื่องจากเมื่อธุรกิจเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น มีปริมาณข้อมูลในระบบเพิ่มขึ้น จึงดึงดูดผู้ไม่ประสงค์ดีที่ต้องการเข้ามาหาประโยชน์หรือโจมตีทางไซเบอร์ จนเกิดความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยความเสียหายที่สามารถกู้คืนมาได้ยากที่สุด คือ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Digital Trust) โดยงบประมาณที่ใช้เพื่อแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมากกกว่าการป้องกันหลายเท่า จึงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย

“แม้องค์กรส่วนใหญ่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง หลัง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์มีผลบังคับใช้ แต่ยังมีธุรกิจอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ตระหนักว่าตนกำลังเผชิญความเสี่ยงทางไซเบอร์ และยังไม่ทราบว่าต้องดำเนินการป้องกันการถูกโจมตีอย่างไร ดังนั้นการใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เช่น ‘บลูบิค’ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยให้กับธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายพชรกล่าว

ทั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้สะท้อนผ่านคาดการณ์ของ Cybersecurity Venture ประเมินว่าค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในช่วงปี 2564 – 2568 มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.76 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 15% บลูบิคจึงมองเห็นโอกาสในการชิงส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูง

นายพลสุธี ธเนศนิรัตศัย ผู้อำนวยการ บริษัท บลูบิค ไททันส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันไซเบอร์ซิเคียวริตี้กำลังเป็นอีกหนึ่งโจทย์ความท้าทายของภาคธุรกิจ เนื่องจากจำนวนและแนวโน้มภัยคุกคามที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยเหตุนี้ ‘บลูบิค ไททันส์’ จึงได้มีการออกแบบบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนกลยุทธ์และกรอบการบริหารจัดการ การยกระดับมาตรการป้องกัน และการรับมือเหตุละเมิดความมั่นคงปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวและทำให้แผนงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของลูกค้าสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ผ่าน 4 บริการหลัก ดังต่อไปนี้

1) การวางแผนกลยุทธ์และกรอบการบริหารจัดการ (Business-Cybersecurity Alignment) วิเคราะห์บริบททางธุรกิจและความเสี่ยงทางไซเบอร์ โดยอ้างอิงมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพื่อกำหนดแนวทางในการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในทุกระดับ ได้แก่ โครงสร้างการบริหารจัดการ นโยบาย กระบวนการ บุคลากรและเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจและความเหมาะสมด้านทรัพยากรขององค์กร

2) การประเมินมาตรการควบคุมและป้องกัน (Critical Cyber Risk Remediation) ประเมินมาตรการควบคุมและป้องกันตามแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ดี เพื่อระบุขอบเขตและเรื่องที่ควรได้รับการปรับปรุง ตั้งแต่ระดับนโยบาย กระบวนการ บุคลากรและเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่การนำเสนอแนวทางในการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยและการจัดลำดับความสำคัญ โดยพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ

3) การยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกัน (Strengthened Security-by-Design Controls) เป็นการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับองค์กร ด้วยการออกแบบระบบการบริหารจัดการ การเลือกใช้เทคโนโลยีและโซลูชันที่เหมาะสมเฉพาะราย เพราะแต่ละองค์กรมีพื้นฐานระบบข้อมูลและปัจจัยความเสี่ยงไม่เหมือนกัน

4) การวางแผนและรับมือเหตุละเมิดความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และบริการอื่นๆ (Cyber Response Readiness) เป็นการวางแผนรับมือเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ และให้คำแนะนำในขณะเกิดเหตุการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญในการระงับเหตุ ตลอดจนสืบสวนเพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น และกำหนดแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำได้อีก

นอกจากบริการที่ปรึกษาด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้แล้ว บลูบิค ไททันส์ ยังจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านไอทีระดับโลก เพื่อรองรับงานด้านการติดตั้งระบบ (Implementation) ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ให้กับลูกค้า รวมถึงมีแผนขยายการให้บริการที่เกี่ยวกับ Cloud Security ในอนาคตอีกด้วย

“เมื่อภาคธุรกิจจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างข้อได้เปรียบและโอกาสเติบโตทางธุรกิจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าโอกาสเหล่านี้มักมาพร้อมความเสี่ยง ดังนั้น ทุกองค์กรโดยเฉพาะองค์กรที่กำลังทำหรือทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันไปแล้ว องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รวมถึงบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ทุกรูปแบบ จำเป็นต้องเร่งวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างรัดกุม เพราะความเสียหายที่เกิดจากภัยคุกคามทางนั้น นอกจากจะนำไปสู่ความสูญเสียด้านการเงินแล้ว ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรจนอาจทำให้เกิดความเสียเปรียบในการแข่งขันในโลกเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน” นายพลสุธี กล่าวทิ้งท้าย