ตลท.เตือนหุ้นไทย Q4 ผันผวน ลุ้นการบริโภคฟื้นตัวหนุนตลาด

HoonSmart.com>>ตลท. มองหุ้นไทย Q4 ผันผวน “ภากร” ลุ้นการบริโภคในประเทศฟื้นตัว ดันหุ้นไทยฝ่าปัจจัยลบรุมล้อมจากสงครามรัสเซีย

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางภาวะตลาดหุ้นไทยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่า ในปีนี้ถือว่าสถานการณ์ตลาดไม่ได้เป็นปกติ ตลาดหุ้นต่างประเทศมีความผันผวนมากกว่าก่อนหน้านี้ การเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบอย่างมาก ทั้งราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น กระทบต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางใช้นโยบายควบคุมโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย สภาพคล่องในตลาดทุนลดลง หากในไตรมาส 4 สงครามยังไม่จบ ตลาดหุ้นก็ยังผันผวนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากปัญหาการระบาดของโควิดลดลง การบริโภคในประเทศฟื้นตัวขึ้น การเปิดประเทศทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจสุขภาพ ร้านอาหาร โรงแรม โลจิสติกส์ เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งก็ต้องดูว่าภาคธุรกิจจะปรับตัวรองรับการฟื้นตัวนี้ได้ดีมากน้อยเพียงใด เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายๆภาคธุรกิจก็มีการลดการจ้างงาน และไม่มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม

“ในไตรมาส 4 ปีนี้ มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ มีทั้งปัจจัยบวก และปัจจัยลบ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด ก็ต้องดูว่าปัจจัยใดส่งผลมากกว่า นักลงทุนควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบจากข่าวต่างๆ” นายภากรกล่าว

ต่อกรณีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับคณะรัฐมนตรี นายภากรกล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจเอกชนมีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขันได้ทั่วโลก ปัจจัยการเมืองอาจมีผลต่อเศรษฐกิจบ้างแต่ไม่มากนัก ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงอะไร แต่ในทางกลับกันหากการเมืองมีความมั่นคงแน่นอน การเมืองนิ่งจะช่วยเสริมให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ เดือนกันยายน 2565 โดยระบุว่า ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) สะท้อนมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯต้องการควบคุมเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในระดับเป้าหมายภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ให้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนเอง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลต่อสภาพคล่อง และภาวะการเงินที่จะตึงตัว ต้นทุนการกู้ยืม ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลง ซึ่งกระทบการฟื้นตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่พึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้ต้องหันมาพึ่งการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นภายในประเทศมากขึ้น

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้ค่าเงินในภูมิภาค ASEAN รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แต่ใน 9 เดือนแรกปี 2565 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นไทยทั้งค่อนข้างมาก และ SET Index ยังมีความผันผวนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นอื่น ๆ แม้ว่าความไม่แน่นอนจากผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเร่งตัวขึ้น

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

• ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 SET Index ปิดที่ 1,589.51 จุด ปรับลดลง 3.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงอยู่ที่ 4.1%

• SET Index ใน 9 เดือนแรกปี 2565 ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มทรัพยากร

• ในเดือนกันยายน 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 75,090 ล้านบาท ลดลง 25.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 9 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 81,816 ล้านบาท โดย ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 24,279 ล้านบาท ทำให้ใน 9 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 146,465 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

• ในเดือนกันยายน 2565 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 3 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เจริญอุตสาหกรรม (CH) บมจ. ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (BAREIT) โดยมูลค่าระดมทุนรวมในหุ้น IPO ของไทยปี 2565 อยู่ยังในระดับต้น ๆ ของเอเชีย

• Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 15.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.5 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.1 เท่า

• อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 2.90% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.30%

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

• ในเดือนกันยายน 2565 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 677,673 สัญญา เพิ่มขึ้น 36.5% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 TFEX ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 564,624 สัญญา เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน