“เอเซีย พลัส” คาดหุ้นไทย Q4/65 ดีกว่าทุกไตรมาส ฟันด์โฟลว์หนุน 1,730 จุด

HoonSmart.com>> “บล.เอเซีย พลัส” มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทย “ไตรมาส 4 ดูดีกว่าทุกไตรมาส” คาดดูดซับปัจจัยลบไปมาก ได้แรงหนุนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ค่าเงินบาทมีทิศทางชะลอการอ่อนค่า มูลค่าหุ้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดึงดูดฟันด์โฟลว์ หนุน SET Index สู่เป้าหมายสิ้นปีที่ 1,730 จุด แนะนำลงทุนหุ้น Domestic Play พร้อมเสริมเกราะลงทุนหุ้นกลุ่ม Defensive คัดหุ้นเด่นเสิร์ฟ ADVANC, ASK, BBL, BEM, CENTEL, HMPRO, GULF

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส (ASPS) ในกลุ่มบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/65 ได้ผ่านจุดที่ถูกแรงกดดันสูงสุดจากปัจจัยภายนอกไปแล้ว เริ่มจาก 1) สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ตลาดตอบรับมานานกว่า 7 เดือน หากความเสี่ยงถูกจำกัดเฉพาะในพื้นที่ยูเครนและไม่นำสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ระหว่างกันผลกระทบมายังตลาดหุ้นจะไม่มาก 2) อัตราเงินเฟ้อหลายประเทศมีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดหลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปรับลงใกล้เคียงกับช่วงต้นปี ทำให้แรงกดดันต่อการใช้นโยบายการเงินเชิงรุกของธนาคารกลางต่างๆลดลง

3) การดำเนินนโยบายทางการเงินเชิงรุกใกล้เข้าสู่ช่วงท้าย โดยเฉพาะ Fed ที่ตลาดคาดช่วงที่เหลือของปีจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1% และปีหน้าอีก 0.25% ก่อนที่จะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง 4) ทิศทางเศรษฐกิจหลายประเทศที่ชะลอลง โดยสหรัฐฯ เกิดภาวะ Technical Recession ไปแล้ว, เศรษฐกิจ อังกฤษ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ชะลอลงหลัง GDP ไตรมาส 2 ติดลบ แต่อย่างไรก็ตามการทยอยปรับลดคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจต่างๆสะท้อนถึงการรับรู้ของตลาดไปในระดับหนึ่ง

ส่วนปัจจัยในประเทศที่ยังอยู่ในโหมดฟื้นตัวตามหลังการเปิดประเทศที่ได้แรงหนุนจากภาคการบริโภคในประเทศ การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนมากกว่าการเยียวยาหลังผ่านช่วง COVID-19 ขณะที่ในมุมกำไรบริษัทจดทะเบียนบ้านเราที่ขยายตัวได้ดี โดยฝ่ายวิจัยประเมิน EPS65F ที่ 96.1 บาท/หุ้น เติบโต 12%yoy และ EPS66F ที่ 101.1 บาท/หุ้น เติบโต 5%yoy ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงิน ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยฯแต่ยังดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเชื่อว่าดอกเบี้ยฯ ณ สิ้นปีที่ 1.25% เทียบกับสหรัฐฯ 4.25% ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทในช่วง 4Q65 เชื่อว่าจะชะลอการอ่อนค่าจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงตามราคาพลังงานที่ปรับลงซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของการขาดดุลการค้า เช่นเดียวกับดุลบริการที่จะดีขึ้นตามตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเข้าสู่ High Season

ทิศทางเศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการบริษัทฯที่มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นสวนกระแสโลก ขณะที่ความเสี่ยง Fx Loss ลดลงจะเป็นปัจจัยดึงดูด Fund Flow ไหลเข้าหนุน SET Index ช่วง 4Q65 ขยับขึ้นโดยคงเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปีไว้ที่ 1730 จุด หรือคิดเป็นระดับ Market Earning Yield Gap ที่ 4.3% มากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 4.2% กลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้น Domestic หลีกเลี่ยงความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ADVANC, ASK, BBL, BEM, CENTEL, HMPRO, GULF

น.ส.อภิชญา ไชยฤกษ์ ฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส มองว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นต่างประเทศถือว่ามีความผันผวนสูง เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางหลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์อื่นๆในหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางด้านพลังงานในฝั่งยุโรป สงครามระหว่างรัซเซีย-ยูเครน และ ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีน ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจว่าจะชะลอตัวในระยะข้างหน้า ทำให้มีการลดความเสี่ยงของพอร์ต ส่งผลให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวลดลง เช่น ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับลดลงกว่า 23%

ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ได้รับผลกระทบมากสุดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็ปรับตัวลดลงกว่า 31% เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดียังมีหุ้นบางกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาด นั่นก็คือหุ้นในกลุ่ม Defensive อย่าง Healthcare สะท้อนผ่านดัชนี Health Care Select Sector ที่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวลดลงไปเพียง 12% เท่านั้นถือว่าปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดโดยภาพรวม

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรือช่วงที่มีความผันผวนสูง ทางเลือกในการเพิ่มน้ำหนักไปในหุ้น Defensive ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงได้ เป็นผลมาจากค่าเบต้า (ค่าความเสี่ยงเมื่อเทียบกับตลาด) ที่ต่ำ ซึ่งโดยปกติแล้วหุ้น Defensive จะมีค่าเบต้าที่น้อยกว่า 1 ตัวอย่างเช่น หากตลาดปรับตัวลง 2% หุ้น Defensive มักมีแนวโน้มจะปรับตัวลงน้อยกว่า 2% โดยหุ้น Defensive หมายถึงหุ้นที่บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีรายได้อย่างมั่นคง จากความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้หุ้นในกลุ่มนี้มีเสถียรภาพเมื่อต้องเผชิญกับช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง อ้างอิงจากข้อมูลของ Refinitiv IBES ในอดีต พบว่าในช่วงปี 2007-2009 ที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย กำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 ลดลง 9 ไตรมาสติดต่อกัน แต่กลุ่ม Healthcare ยังสามารถสร้างกำไรเติบโตได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ตัวอย่างหุ้นในกลุ่ม Healthcare ฝั่งสหรัฐฯ ได้แก่ United Health (UNH US) เป็นบริษัทประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯหากวัดโดยมูลค่าตลาดและรายได้ ประกอบธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ ประกันสุขภาพส่วนบุคคล ประกันสุขภาพสำหรับองค์กร รวมถึงธุรกิจรักษาโรคทั้งในรูปแบบคลินิกและออนไลน์และระบบ Software ที่ใช้ทางการแพทย์ โดยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ 2.7% สูงกว่าตลาดหุ้นโดยภาพรวมที่ดัชนี S&P 500 ปรับลงถึง 23% หรืออีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่ล้อไปกับกลุ่ม Healthcare ก็คือการลงทุนผ่าน ETF ได้แก่ Health Care Select Sector SPDR® Fund (XLV US) ซึ่งกระจายการลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ สัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงผู้ให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จำนวน 66 บริษัท เช่น United Health (UNH US) Johnson & Johnson (JNJ US) Pfizer Inc.(PFE US) เป็นต้น แม้ผลตอบแทนปรับตัวลดลง 12% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังทำผลตอบแทนชนะตลาดโดยรวมได้

นายภาดร สุขสวัสดิ์ ฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า จากผลกระทบของนโยบายการเงินที่เข้มงวด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 4 เริ่มมีทิศทางที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ระดับสูง จะเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้ธนาคารกลางหลักของโลกยังคงต้องมีท่าทีเข้มงวดทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป

“คำแนะนำการลงทุนในไตรมาส 4 นี้ ควรมองหากลุ่มธุรกิจที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ มีการจ่ายปันผลสูง มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งมักปรับตัวลงน้อยหรือปรับขึ้นได้ดีกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่ม Healthcare, Consumer Staple และ Telecommunication”นายภาดร กล่าว