MTC ไร้กังวล สคบ.ปรับดอกเบี้ยเช่าซื้อใหม่ มั่นใจพอร์ตสินเชื่อปีนี้โตทะลุเป้า 30%

HoonSmart.com>> “เมืองไทย แคปปิตอล” ลั่นไม่กังวล สคบ.ปรับเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ไม่เกิน 23% สำหรับรถยนต์มือหนึ่งไม่เกิน 10% และรถยนต์มือสองไม่เกิน 15% เผยปัจจุบันคิดอัตราอยู่ในเกณฑ์กำหนด ฟาก “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” มั่นใจไม่กระทบธุรกิจ เน้นปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันกว่า 80% ด้านสินเชื่อเช่าซื้อเพียง 5% ของพอร์ตรวม มั่นใจคุมต้นทุนอยู่ ย้ำความมั่นใจพอร์ตสินเชื่อปีนี้โตตามเป้า 30%

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เปิดเผยถึงกรณีการประกาศควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยธุรกิจลิสซิ่งเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ โดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พิจารณาปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย ประเภทสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ไม่เกิน 23% รถยนต์มือหนึ่ง ไม่เกิน 10% และรถยนต์มือสอง ไม่เกิน 15% เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจลิสซิ่ง นั้น บริษัทฯ ไม่ได้รู้สึกกังวลกับประกาศปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจมากนัก

“ปัจจุบันสินเชื่อหลักของบริษัทฯ ยังคงเน้นไปที่การปล่อยประเภทสินเชื่อที่มีหลักประกันที่มีพอร์ตสินเชื่อมากกว่า 80% ขณะที่ประเภทสินเชื่อเช่าซื้อรถนั้น บริษัทฯ เปิดให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือหนึ่งเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคิดดอกเบี้ยประมาณ 23% อยู่แล้ว จะเห็นว่าอยู่ในระดับเดียวกับเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ สคบ. พิจารณากำหนด อีกทั้งพอร์ตสินเชื่อดังกล่าว ขณะนี้มีเพียง 5% จะเห็นว่าสัดส่วนพอร์ตสินเชื่ออยู่ในระดับต่ำ”นายชูชาติ กล่าว

ขณะเดียวกันการปรับเพดานดอกเบี้ยธุรกิจลิสซิ่ง ไม่ได้กระทบต้นทุนการดำเนินธุรกิจลิสซิ่งของบริษัทแต่อย่างใด ประกอบกับบริษัทฯ ได้วางแผนรับมือการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว มั่นใจได้ว่า สามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้ และล่าสุดบริษัทฯ จับมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก 2 แห่ง ได้แก่ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และ ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) สนับสนุนวงเงิน 6,200 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินให้บริษัท พร้อมเดินหน้าลุยปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้า

สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 ยังอยู่ในทิศทางที่ดี หลังบรรยากาศทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และสถานการณ์ของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อ เพื่อการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ขยายตัวตามไปด้วย ทำให้มั่นใจว่าในปีนี้พอร์ตสินเชื่อรวมจะเติบโตประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้