ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 825 จุด คลายกังวลธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ย

HoonSmart.com>> ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่ง 825 จุด กว่า 2.80% ดีดแรงต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ดัชนี S&P500 +3.06% ดัชนี Nasdaq +3.34% บอนด์ยีลด์อ่อนตัวลงอีก หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอ่อนแอ มองเฟดอาจผ่อนคลายเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 2.89 ดอลลาร์ ฟากตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่ง 3%

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ปิดที่ 30,316.32 จุด พุ่งขึ้น 825.43 จุด หรือ 2.80% ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอ่อนตัวลงอีก หลังจากการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานที่อ่อนแอ ทำให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลาง (เฟด)อาจจะผ่อนคลายการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,790.93 จุด เพิ่มขึ้น 112.50 จุด หรือ +3.06%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,176.41 จุด เพิ่มขึ้น 360.97 จุด หรือ +3.34%

นอกจากนี้การที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ในการประชุมเมื่อวานนี้ โดยขึ้นเพียง 0.25% มาที่ 2.60% ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางทั่วโลกอาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและตลาด

ขณะเดียวกัน UNCTAD ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ธนาคารกลางชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในเชิงรุก เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะถดถอย ขาดเสถียรภาพ และไม่ขยายตัว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีซื้อขายที่ 3.619% หลังจากที่ขึ้นไปแตะ 4% ช่วงหนึ่งในสัปดาห์ที่แล้วอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีลดลงมาที่ 3.684%

สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานรายงานผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS)เดือนสิงหาคมว่า ลดลง 1.1 ล้านตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่ง ต่ำสุดในรอบ 2.5 ปีนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021 และต่ำกว่า11.1 ล้านตำแหน่งที่นักวิเคราะห์คาด

JOLTS เป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เฟดใช้ในการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ฮอลลี นิวแมน ครอฟท์จาก Neuberger Berman กล่าวว่า ตลาดมักจะรับข่าวดี โดยรวมตลาดยังไม่ฟื้นตัวจนกว่าเฟดจะส่งสัญญานว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเห็นได้เมื่อเงินเฟ้อลดลงชัดเจน

เจฟฟรีย์ โรชจาก LPL Financial กล่าวว่า คาดว่าการประชุมของเฟดครั้งหน้าจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน เพราะตลาดแรงงานเพียงเปลี่ยนจากภาวะตึงตัวสุดสุดไปเป็นตึงตัวมาก ดังนั้นเฟดคงจะตอบสนองด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%

ผลสำรวจนักลงทุนรายใหญ่ของ Evercore ISI เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมพบว่า ทั้งหมด 100% มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะถดถอย โดย 89% มองว่าจะถดถอยในปี 2023 และอีก 11% มองว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 อีกทั้งประเมินตรงกันว่าดอกเบี้ย fed funds rate จะอยู่ที่ 4.00% และเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 4.2% เมื่อสิ้นปี 2023

นักลงทุนยังจับตาการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะการจ้างานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์ รวมทั้งการแจ้งผลประกอบการไตรมาสสามของบริษัทจดทะเบียน

โฮเวิร์ด ซิลเวอร์แบลตต์จาก S&P Global กล่าวว่า การคาดการณ์ผลการดำเนินงานไตรมาสสี่มีความสำคัญในการบ่งชี้ทิศทางตลาดมากกว่าการรายงานผลการดำเนินงานไตรมาสสามที่คาดว่าจะเติบโต 6.1% แต่ในไตรมาสสุดท้ายการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดจะมีผลกระทบมาก

หุ้นเทสลาเพิ่มขึ้น 2.9% จากรายงานว่า นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลามีแผนที่จะเดินหน้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ในราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มเดินทางและสันทนาการที่เพิ่มขึ้น 6.1% หลังได้รับผลบวกจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ปิดบวกสองวันติดต่อกัน และนักลงทุนกลับเข้ามาช้อนซื้อหลังจากตลาดร่วงลงไปมาก

ตลาดได้รับแรงหนุนจากที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ในการประชุมเมื่อวานนี้ รวมไปถึงความคาดหวังว่าธนาคารเครดิต สวิสจะรอดพ้นปัญหาการเงินไปได้ หลังจากที่มีความวิตกกันว่าเครดิตสวิสอาจจะเป็นเหมือนกรณีเลห์แมน บราเธอร์สในสหรัฐฯที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงิน 14 ปีก่อน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 403.03 จุด พุ่งขึ้น 12.20 จุด, +3.12%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,086.46 จุด เพิ่มขึ้น 177.70 จุด, +2.57%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,039.69 จุด เพิ่มขึ้น 245.54 จุด, +4.24%

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,670.48 จุด เพิ่มขึ้น 461.00 จุด, +3.78%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 2.89 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 86.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 2.94 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 91.80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล