PRINC เผยผู้ป่วยใหม่ปีนี้พุ่ง 30% หลังลุยขยายเตียง-ศูนย์เฉพาะทาง

HoonSmart.com>> “พริ้นซิเพิล แคปิตอล” เปิดยอดผู้ป่วยใหม่พุ่ง 30% หลังลุยขยายเตียง-ศูนย์เฉพาะทางกว่า 20 แห่งในปีนี้ ด้วยงบลงทุน 700 ล้านบาท หนุนชดเชยรายได้โควิด-19 มั่นใจขยายรพ.ตามแผน 20 แห่งในปี 67

ธานี มณีนุตร์

นายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพในนามโรงพยาบาล ‘เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์’ กล่าวว่า ปัจจุบันการขยายโรงพยาบาล 20 แห่งภายในปี 2567 ยังเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ขณะเดียวกันผลจากการเร่งขยายศูนย์การเเพทย์และคลินิกเฉพาะทางกว่า 20 แห่ง ด้วยงบลงทุน 700 ล้านบาท ตามแผนการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล ส่งผลให้สัดส่วนของผู้รับบริการในโรคอื่นๆ กลุ่ม Non-Covid ขึ้นมาชดเชยรายได้จากกลุ่ม Covid อย่างมีนัยยะสำคัญ

“ในไตรมาสที่ 3 ปี 65 ทิศทางการเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้รับบริการรายวัน (Campus Visit per day) สูงขึ้นราว 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และจำนวนผู้ป่วยใหม่ (New Patient) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพุ่งเกือบ 30% จากหลายปัจจัย ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการผ่าตัดทำคลอด, ผ่าตัดกระดูกสันหลัง-ข้อเข่าข้อสะโพก, ผ่าตัดต้อกระจกและโรคตา, การให้บริการวัคซีนเด็ก และการเข้าสู่ฤดูฝน ผู้ป่วยรับบริการเพิ่มมากขึ้นตามฤดูกาล โรคที่มากับน้ำ โรคไวรัส RSV ฯลฯ ขณะที่โควิด-19 แม้มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนบ้าง แต่ยังถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ไม่เกิน 20-25 % ของจำนวนเตียงที่ให้บริการทั้งหมด” นายธานี กล่าว

ส่วนการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ปี 65 นี้ ซึ่งเป็นช่วงหลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นายธานีกล่าวถึงกลยุทธ์ที่สำคัญในการเปิดรับผู้ป่วยต่างชาติว่ามีการจัดทัพโรงพยาบาลขับเคลื่อนโดยเชื่อมโยงศักยภาพเครือข่ายของโรงพยาบาลตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำเลที่ตั้งและความต้องการการรับบริการในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (บางนา กม.7) ตั้งแผนกดูแลผู้ป่วยต่างชาติ เน้นให้บริการผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้าน (Fly-in) ตั้งเป้าเป็นด่านหน้ารองรับผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุด ห่างเพียง 20 กิโลเมตร

ขณะเดียวกันเร่งขยายศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง อย่างศูนย์หัวใจและหลอดเลือด และเตรียมตั้งศูนย์ Cath lab (ศูนย์ปฏิบัติการเครื่องฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ) พร้อมให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 65 นี้ และเตรียมเปิด Elite Ward ยกระดับการให้บริการรักษาพยาบาลและอำนวยความสะดวก รองรับกลุ่มพรีเมี่ยมในย่านบางนา และกรุงเทพฝั่งตะวันออกด้วย

นอกจากนี้ได้ตั้งแผนกดูแลผู้ป่วยต่างชาติ ทั้งที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ที่มีอัตราการเติบโตของผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางมารักษาในประเทศในรูปแบบ Drive-in ทะลุ 2,000 รายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 พร้อมประเมินหลังเปิดประเทศจำนวนผู้ป่วยต่างชาติจากสปป.ลาว และกัมพูชาในภาพรวมฟื้นตัวราว 15% สะท้อนถึงความโดดเด่นทางการแพทย์ของไทยในฐานะ Medical Hub ในระดับภูมิภาค

ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2565 นี้ บริษัทกำลังเร่งงบลงทุนขยายศูนย์การแพทย์และคลินิกเฉพาะทาง โดยเฉพาะด้านเด็กและโรคระบบทางเดินอาหารซึ่งมีความต้องการสูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกลุ่ม PRINC E-SARN ประกอบด้วย โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนครซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ขณะที่ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือ มีอัตราการครองเตียง (Bed Occupacy Rate) เต็มหลายแห่ง จำเป็นต้องขยายการลงทุนเพิ่มเติม ได้แก่ โรงพยาบาล พิษณุเวช พิษณุโลก, โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์, โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี

ส่วนในพื้นที่ภาคกลางตอนบน โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จ.นครสวรรค์ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการรักษาโรคเด็ก อยู่ระหว่างการขยายวอร์ด ICU เด็ก และล่าสุดตั้งศูนย์การแพทย์ที่ให้บริการด้านเคมีบำบัดและการรักษามะเร็ง เช่นเดียวกับโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี ที่เตรียมขยายบริการทางการแพทย์ด้วยการเปิดศูนย์เพื่อการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือ IUI (Intra-Uterine Insemination) รองรับความต้องการบริการการแพทย์โรคเฉพาะทางในพื้นที่

นายธานี ยังกล่าวย้ำว่า การขยายบริการทางการแพทย์ขั้นสูงไปยังโรงพยาบาลในเครือ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองรองภายใต้ค่าบริการที่สามารถเข้าถึงได้ ย่อมเกิดประโยชน์และเพิ่มทางเลือกในการรับบริการสาธารณสุขให้กับคนในพื้นที่ ส่งผลต่อสัดส่วนของผู้รับบริการในโรคอื่นๆ ในกลุ่ม Non-Covid ขึ้นมาชดเชยรายได้จากกลุ่ม Covid อย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานภาพรวมทั้งธุรกิจโรงพยาบาลและคลินิกในเครือไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าขยายโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เป็นจำนวน 20 แห่งภายในปี 2567 ตามแผน จากปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือ 13 แห่งใน 11 จังหวัด เปิดดำเนินการแล้ว 12 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ลำพูน, โรงพยาบาลศิริเวช ลำพูน, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1, โรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2, โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี, โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี, โรงพยาบาล วิรัชศิลป์ ชุมพร, โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร, โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ, โรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก และโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์