BBL นำ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้-ฝาก หุ้นแบงก์ดูดี บาทอ่อนหนุนกลุ่มส่งออก

HoonSmart.com>> ธนาคารกรุงเทพ เป็นจ่าฝูงปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.15-0.50% ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR-MOR-MRR เพิ่มขึ้น 0.30-0.40 % คาดแบงก์เฮโลขยับตาม ส่งผลดีต่อกำไรของกลุ่ม  ด้านธอส. ยันตรึงดอกเบี้ยกู้บ้านถึงสิ้นปี 65 ยอมเจ็บ 1,900 ล้านบาท จ่อขึ้นครึ่งแรกปี 66 หลังกนง.มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด กดดันเงินบาทอ่อนยวบ 38.30 หุ้นร่วงตามต่างประเทศ ปิดต่ำกว่า 1,600 จุด ต่างชาติชะลอขาย 208 ล้าน

นางรัชนี นพเมือง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารฯประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 อีก 0.25% เป็น 1.00% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับเพิ่มขึ้น 0.15-0.50% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ เอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) เพิ่มขึ้น 0.40% ต่อปี เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) เพิ่มขึ้น 0.375% ต่อปี และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) เพิ่มขึ้น 0.30% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2565

การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ฝากเงิน และเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มเปราะบาง ในด้านเงินกู้ ธนาคารจึงได้ปรับอัตราดอกเบี้ย MRR ในอัตราที่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อื่นๆ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ยืนยันจะตรึงอัตราดอกเบี้ยบ้านให้แก่ลูกค้าไปจนถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งจะได้รับผลกระทบประมาณ 1,900 ล้านบาท หลังจากนั้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จะเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ใกล้เคียงกับระดับของตลาด  ทำให้มีต้นทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการบริหารจัดการด้านดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ธอส. มีลูกค้าที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ประมาณ 1 ล้านราย โดยอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (MRR) อยู่ที่ 6.150% ต่อปี

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.00% ตามคาด นับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่สองตั้งแต่เดือนธ.ค.2561 ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วมาที่ 38.30 บาท/ดอลลาร์  โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 15% แล้วในปีนี้

“เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่บ้างที่ กนง. มีมติเอกฉันท์ในการประชุมรอบนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่าเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวต่อไปท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดย กนง. มีความพร้อมในการปรับขนาดและกรอบเวลาของการดำเนินนโยบายแต่ละขั้นตอนตามที่เห็นสมควร กรุงศรีคาดว่าในการประชุมรอบหน้าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% และอาจจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งละ 0.25% อีก 2 ครั้งในไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งในเบื้องต้นน่าจะได้เห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.75% ในกรอบระยะเวลาดังกล่าว”กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ BAY ระบุ

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ประเมินว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ 0.25% จะส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์ให้มีการทยอยตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากลูกค้าอยู่ในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม และเอสเอ็มอี หลังจากการก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย

กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจ มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% และ 3.8% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ คาดว่าสิ้นปี 2565นักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 9.5 ล้านคน จากเดิมที่คาดราว 6 ล้านคน ก่อนขยับสู่ 21 ล้านคนในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 19 ล้านคน อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความทั่วถึงมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และ 2.6% ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ แนวโน้มสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ดี จะช่วยลดทอนผลกระทบของการอ่อนค่าของเงินบาท โดยตั้งแต่ต้นปีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นบวกที่ 4,474 พันล้านดอลลาร์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับที่สูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ยังไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเมื่อเทียบกับหลายประเทศ นักลงทุนยังไม่ได้หนีออก

อย่างไรก็ตาม ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่มีความผันผวนสูง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการเข้าไปดูแล เพื่อไม่ให้ค่าเงินห่างไกลจากปัจจัยพื้นฐานมาก ขณะที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยก็มีข้อจำกัดในการดูแลเรื่องค่าเงิน ซึ่งจะเห็นได้จากที่ผ่านมามีการขึ้นดอกเบี้ยไป 0.25% ต่อปี แต่เงินบาทก็ยังอ่อนค่าอยู่ในระดับ 12.1% ขณะที่หลายประเทศมีการขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ค่าเงินก็อ่อนค่าแรงกว่าไทย ดังนั้นนโยบายดอกเบี้ยจึงมีเป้าหมายหลักในการดูแลเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเป็นหลัก ยังไม่เห็นประเด็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยที่กระชากรุนแรงเพื่อดูแลค่าเงิน แต่ ธปท. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นวันที่ 28 ก.ย.2565 ตลาดต่างประเทศยังคงปรับตัวลงต่อ โดยเฉพาะฮ่องกงดิ่งหนักสุดถึง 3.41% ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดต่ำกว่า 1,600 จุด อยู่ที่ 1,599.23 จุดลดลง 11.35 จุดหรือ -0.70% มูลค่าซื้อขาย 69,726.47 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศขายเพียง 208.48 ล้านบาท และทิ้งตราสารหนี้  3,477 ล้านบาท

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นระหว่างวันในช่วงบ่ายฟื้นตัวขึ้นได้บ้างจากช่วงเช้าที่ปรับตัวลงไปค่อนข้างมากจากกระแสข่าวกนง.จะตึงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ถึงสิ้นปี ทำให้คนเข้าใจผิดและตลาดในช่วงเช้าจึงเกิดภาวะตื่นตระหนก (Panic) แต่หลังจากผลประชุมกนง.ออกมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามที่ตลาดคาดไว้ และกนง.ก็ไม่มีมาตรการอะไรออกมาเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินผันผวน ดังนั้นตลาดจึงเด้งขึ้นมาได้บ้าง เพราะไม่มีประเด็นกดดันเพิ่ม จึงมีแรงซื้อกลับบ้าง

นอกจากนี้ ธปท.มีการปรับมุมมองเศรษฐกิจไทย โดยปี 2565  GDP เติบโต 3.3% ส่วนปีหน้ลงมาเหลือโต 3.8% จากเดิมคาดโต 4.2% แต่มีมุมมองบวกปีนี้การบริโภคภาคเอกชนปรับขึ้นเป็น 5.6% จากเดิมคาด 4.9% ซึ่งทำให้ภาพโดยรวมดูดีขึ้น จึงมีแรงซื้อหุ้นพวก Domestic และหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์กลับเข้ามา

อย่างไรก็ดี ตลาดยังเคลื่อนไหวในแดนลบเช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดในแถบเอเชียเหนือติดลบกัน เหมือนตลาดในยุโรปที่เทรดบ่ายนี้ก็ติดลบราว 1% เนื่องจากยังมีความกังวลเศรษฐกิจถดถอย พร้อมให้ติดตามตัวเลข Core PCE ของสหรัฐ และการพิจารณาของศาลเรื่องปม 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์นี้ ( 30 ก.ย.)

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันที่ 29 ก.ย.2565 ตลาดมีโอกาสรีบาวด์ โดยมีแนวรับ 1,595 จุด ส่วนแนวต้าน 1,610 จุด