กลุ่มแบงก์ขึ้นยกแผง มีอัพไซด์ดบ.ขาขึ้น-กำไรเพิ่มเสนอลดส่งเงิน FIDF

HoonSmart.com>>กลุ่มธนาคารขยับขึ้นยกแผง นำโดย TTB-KBANK-KKP เล็งยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ยื้อไปปีหน้าราว 0.125-0.75% สร้าง Upside ไม่สนทั่วโลกต่างปรับขึ้นดอกเบี้ย  ส่วนเรื่องการกลับไปส่งเงินเข้า FIDF ในอัตราเดิม 0.46% เริ่ม 1 ม.ค.66 ทางสมาคมธนาคารไทยเสนอให้ปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หวั่นเป็นภาระสูงขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น หากส่งแค่ 0.1% หนุนกำไรเพิ่มเฉลี่ย 6.7% เชียร์ BBL, KBANK, KTB, KKP, SCB 

เมื่อเวลา 11.44 น.หุ้นในกลุ่มธนาคารขยับขึ้นยกแผง นำโดยหุ้น TTB บวก 2.38% มาอยู่ที่ 1.29 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท มูลค่าซื้อขาย 114.83 ล้านบาท
หุ้น KBANK บวก 1.68% มาอยู่ที่ 151.50 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 837.64 ล้านบาท
หุ้น KKP บวก 1.43% มาอยู่ที่ 71.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 183.26 ล้านบาท

จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ล่าสุด FED Watch ให้น้ำหนักถึง 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในอัตรา 0.75%เพื่อที่จะสกัดเงินเฟ้อพุ่ง รวมถึงไทยจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในก.ย.นี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์กันว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากนี้ไปคงจะต้องติดตามธนาคารพาณิชย์ของไทยจะมีท่าทีอย่างไรเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่เกิดขึ้นกันทั่วโลกในตอนนี้

นายปรเมศร์ ทองบัว รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้ากลยุทธ์และกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน สายงานวิจัย บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพราะจะมีผลกระทบต่อลูกค้า และธนาคารเอกชนก็ยังไม่มีท่าทีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนธนาคารของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% แต่ก็ไม่ได้ปรับขึ้นทุกประเภท ซึ่งเงินฝากของธนาคารออมสิน มาจากสลากทำให้ไม่กระทบมาก

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ก็คงจะค่อย ๆ ปรับขึ้น ปลายปีอัตราดอกเบี้ยน่าจะมาอยู่ที่ 1.25% จากคาดการณ์ปรับขึ้น 0.25% ในการประชุมสองครั้งที่เหลือของปีนี้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของกนง. กลุ่มธนาคารก็ได้ประโยชน์ไป

“ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารยังมี Upside และเศรษฐกิจไทยปีหน้าก็จะดีกว่าปีนี้ ทำให้ NPL ไม่เยอะ ทั้งยังได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นต่อไปด้วย”
นายปรเมศร์ กล่าวว่า หากธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คงจะเป็นปีหน้า (2566) ซึ่งก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก ในอัตราที่ใกล้เคียงกันคาดว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นประมาณ 0.50-0.75% แต่จะเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละธนาคารด้วย ซึ่งปกติธนาคารจะพยายามปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ให้ไม่เข้าเนื้อ อย่างไรก็ดี เชียร์”ซื้อ”หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) ราคาเป้าหมาย 156 บาท และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ราคาเป้าหมาย 180 บาท

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารมี Upside และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นก็ยังเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคารด้วย ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้สิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ 1.25% ซึ่งมองว่ายังไม่มีผลที่จะทำให้ธนาคารจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ในทันที แต่เชื่อว่าท้ายสุดแล้วธนาคารก็ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วย เพียงแต่ธนาคารรอจังหวะที่จะขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นหุ้นในกลุ่มธนาคารจึงยังซื้อสะสมได้

ทั้งนี้ ธนาคารคงจะพยายามดึงไว้ โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ก็มีโอกาสที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของกนง. และหากดึงไว้ไม่ไหวก็คาดว่าธนาคารเอกชนอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ครึ่งเดียวประมาณ 0.125% ซึ่งหากจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะปรับขึ้นทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก แต่การปรับขึ้นก็อาจจะไม่พร้อมกัน อย่างไรก็ดี มองว่าธนาคารขนาดใหญ่ยังได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่ดี

พร้อมเชียร์”ซื้อ”หุ้นธนาคารกรุงไทย (KTB) ให้ราคาเป้าหมาย 19 บาท จากการมองพอร์ตมีการเติบโต, ตั้งสำรองไม่มาก และยังมีพัฒนาต่อยอดจากแอป”เป๋าตังค์”ทำให้รูมเปิดกว้าง แข็งแกร่งต่อในครึ่งหลังปี 65 และหุ้นธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP)ราคาเป้าหมาย 92 บาท ได้แรงหนุนจากธุรกิจตลาดทุน ที่มีดีลวาณิธนกิจ(IB) ของภัทรมากพอควร

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองว่า สมาคมธนาคารเร่งหารือ คลัง และธนคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เรื่องเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ซึ่งจากเดิมจะต้องนำส่งเต็มอัตราเดิมที่ 0.46% ในวันที่ 1 ม.ค. 66 หลังจากลดเหลือ 0.23% เนื่องจาก ผลกระทบจากโควิด-19 โดยทางสมาคมธนาคารนั้น อยากให้ปรับเงินนาส่ง FIDF ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

จึงประเมินว่า หากเงินนำส่งนี้ลดลง 0.1% จะทำให้กลุ่มธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้น 1.9-10.3% หรือเฉลี่ย 6.7% โดย TTB จะเป็นธนาคารที่มีกำไรเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งหากเงินนำส่งลดลงจะดีทั้งกับธนาคารและลูกค้า โดย หากเงินนำส่ง FIDF ไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก จะส่งผลดีต่อ ธนาคารในการที่ ทำให้ ต้นทุนของธนาคารไม่ เพิ่มขึ้นมาก และอาจจะทำให้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพิ่มสูงขึ้นช้าลงได้ ซึ่งจะส่งผลดี ต่อลูกค้าให้ มีภาระการผ่อนไม่ เพิ่มขึ้นมากด้วย ยังคงน้ำหนัก “ลงทุนมากกว่าตลาด” จาก ประโยชน์จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และยังเลือก SCB เป็ น Top pick ของกลุ่ม

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า สมาคมธนาคารไทย หารือ กระทรวงคลัง- ธปท. เงินนําส่ง FIDF 0.46% ให้ชะลอหรือปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจะกลับมานำส่งเต็มจํานวน 1 ม.ค. 66 หวั่น เป็นภาระสูงขึ้นในช่วงดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น รับฝืนกลไกตลาดไม่ได้ส่งสัญญาณรายใหญ่แข็งอาจปรับดอกเบี้ยก่อน เน้น ช่วยกลุ่มเปราะบางตรงจุด บวกอ่อนๆ ต่อกลุ่มธนาคาร ทําให้ภาระะที่เพิ่มขึ้น ค่อยเป็นค่อยไป และการผลักภาระให้ลูกค้าไม่สร้างภาระเร็วไปจนกระทบคุณภาพสินทรัพย์