HoonSmart.com>>”ไทยออยล์”(TOP) ตั้งเป้ารายได้จากการส่งออกและการลงทุนต่างประเทศในปี 2573 คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด หรือประมาณอย่างน้อย 30-40% ของรายได้ทั้งหมด โดยนอกเหนือจากการลงทุน CAP ที่ประเทศอินโดนีเเซีย ต่อไปก็จะไปขยายตลาดที่เวียดนาม และอินเดีย พร้อมมองการเพิ่มทุนคร้้งนี้จะได้เงินประมาณ 11,500 ล้านบาท บวกกรีนชูด้วย พร้อมมองหลังเพิ่มทุนเกิด Dilution effect ราว 2-3%
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้ารายได้จากการส่งออกและการลงทุนต่างประเทศในปี 2573 คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด หรือประมาณอย่างน้อย 30-40% ของรายได้ทั้งหมด โดยนอกเหนือจากการลงทุน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ต่อไปก็จะไปขยายตลาดที่เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมองทั้งสามประเทศมีการเติบโตสูง บริษัทจะไม่ใช่แค่การส่งออก แต่จะไปลงทุน เปิดออฟฟิคด้วย
“ไทยออยล์”ได้วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญเพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหม่ (New Round of Growth) ด้วยการต่อยอดไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง พร้อมขยายฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคที่มีการเติบโตสูง เน้นการลงทุนในธุรกิจปลายน้ำซึ่งมีอัตรากำไรสูงรวมถึงธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve
ปัจจุบันโครงการสำคัญที่ดำเนินการอยู่ ได้แก่ การลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน สามารถรับน้ำมันดิบชนิดหนักได้มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์โดยเปลี่ยนน้ำมันเตาเป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซล ส่งผลให้มีส่วนต่างกำไร (Margin) สูงขึ้นพัฒนาประสิทธิภาพโรงกลั่นไทยออยล์ให้อยู่ในระดับ 1st Quartile ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคาดว่าจะสามารถทยอยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567 และเดินเครื่องผลิตได้เต็มรูปแบบในปี 2568
การลงทุนธุรกิจโอเลฟินใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ซึ่งตอบโจทย์การทรานฟอร์มสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสการลงทุนธุรกิจอื่น ๆ ในตลาดที่มีศักยภาพ ปัจจุบัน CAP มีกำลังการผลิตรวม 4.23 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างพิจารณาการลงทุนโครงการ CAP2 ภายในปีนี้ เพื่อขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 8.10 ล้านตันต่อปี โดยหากตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม คาดว่าจะเริ่ม COD ตามแผนได้ในปี 2569 นอกจากนั้น ไทยออยล์ยังแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ ผ่านรูปแบบ Step Out Business และร่วมลงทุนใน CVC (Corporate Venture Capital) เน้นกลุ่มเมกะเทรนด์แห่งอนาคต ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน
นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี TOP กล่าวว่า จากแผนการขยายธุรกิจเพื่อเสริมความแข็งแกร่งรอบด้าน ไทยออยล์จึงต้องเพิ่มความยืดหยุ่นให้โครงสร้างทางการเงินในระยะยาว โดยเดินหน้าแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนรายใหม่ ซึ่งประโยชน์จากการระดมทุนครั้งนี้ ไทยออยล์จะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนธุรกิจโอเลฟินใน CAP ซึ่งจะช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E) ให้น้อยกว่า 1เท่า และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit rating) ให้อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment grade) ทำให้โครงสร้างเงินทุนแข็งแกร่งและคล่องตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุยายน 2565 ไทยออยล์มีสินทรัพย์รวม 443,278 ล้านบาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 40,795 ล้านบาท และ D/E อยู่ที่ 1 เท่า
“การเพิ่มทุนคร้้งนี้จะได้เงิน 11,500 ล้านบาท บวกกรีนชูด้วย ซึ่งจะช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายได้ประมาณ 200 ล้านบาท หลังเพิ่มทุนกระแสเงินสดที่ได้จะประมาณ 10,000 ล้านบาท ก่อ่นหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเพิ่มทุน”
นายธนิก ธราวิศิษฏ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking and Capital Markets ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ (เดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายกล่าวว่า แผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของไทยออยล์ ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 52.0–54.0บ าทต่อหุ้น โดยจะจัดสรรเพื่อเสนอขายแก่ประชาชน จำนวนไม่เกิน 192,307,693 หุ้น ซึ่งรวมจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่ต่ำกว่า 80% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายครั้งนี้ และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Shares) คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายครั้งนี้ โดยไทยออยล์จะพิจารณาการจัดสรรให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ และแผนการปรับโครงสร้างเงินทุนของไทยออยล์
“หลังเพิ่มทุนครั้งนี้คาดว่าหุ้นจะเกิด Dilution effect ประมาณ 2-3% ซึ่งการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผุ้ถือหุ้นเดิม 80% ของหุ้นทั้งหมด ทำให้เกิด Dilution effect สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมต่ำกว่า 2%”
สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้น สามารถจองซื้อตามสิทธิที่ได้รับจัดสรร หรือเกินกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรร (ไม่กำหนดจำนวนจองซื้อสูงสุด) หรือน้อยกว่าสิทธิที่ได้รับจัดสรรก็ได้ ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ https://ero.scbs.com หรือสำนักงานใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (เดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด) ในฐานะตัวแทนรับจองซื้อหุ้น ตั้งแต่ 9–16 กันยายนนี้ โดยศึกษารายละเอียดการจองซื้อตามเอกสารที่ได้จัดส่งให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้รับสิทธิ ทั้งนี้ สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่สนใจ สามารถจองซื้อผ่านผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์, บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย), บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง, บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ซึ่งโครงสร้างการเพิ่มทุนได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่บางส่วนได้ร่วมลงทุน และการดำเนินธุรกิจของไทยออยล์ที่มีข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันหลายด้าน