ดาวโจนส์ปิดลบ 337 จุด วิตกวิกฤติพลังงานยุโรป

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดร่วง ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 337 จุด นักลงทุนกังวลวิกฤติพลังงานในยุโรปรอบใหม่ แม้ช่วงแรกตลาดปรับตัวขึ้นขานรับจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.ใกล้เคียงนักวิเคราะห์คาด พร้อมจับตารายงาน CPI เดือนส.ค. 13 ก.ย. บ่งชี้เฟดอัตรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นักลงทุนขายลดความเสี่ยงช่วงวันหยุดยาววันแรงงาน ราคาน้ำมันดิบเด้ง 26 เซนต์ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเล็กน้อย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 2 กันยายน 2565 ปิดที่ 31,318.44 จุด ลดลง 337.98 จุด หรือ 1.07% แม้การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมแข็งแกร่ง แต่ก็ไม่ทำให้นักลงทุนคลายความวิตกต่อการขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกของธนาคารกลาง (เฟด) เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และยังกังวลเกี่ยวกับวิกฤติพลังงานในยุโรปรอบใหม่

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,924.26 จุด ลดลง 42.59 จุด, -1.07%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,630.86 จุด ลดลง 154.26 จุด, -1.31%

ในช่วงแรกตลาดอยู่ในแดนบวกต่อเนื่องจากวันก่อน หลังการรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาด โดยดัชนีดาวโจนส์บวกไปถึง 140 จุดหรือ 0.5% ขณะที่ดัชนีS&P 500 และดัชนี Nasdaq ต่างเพิ่มขึ้น 0.6%

กระทรวงแรงงานรายงาน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่ง ใกล้เคียงกับ 300,000 ตำแหน่งจากการสำรวจนักวิเคราะห์ของดาวโจนส์ แต่ลดลงจาก 526,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% สูงสุดในรอบปี และสูงกว่าคาด

ตลากยังได้รับแรงหนุนจากการที่แรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยมีแรงงานเข้าสู่ระบบถึง 786,000 รายส่งผลให้อัตราการแรงงานที่เข้าสู่ระบบสูงถึง 62.4% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020

ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบรายปี แต่ทั้งการเทียบรายเดือนและรายปีนั้นยังต่ำกว่าที่คาดไว้ 0.1%

นักวิเคราะห์มองไปที่การรายงานข้อมูล CPI เดือนสิงหาคม ในวันที่ 13 กันยายน ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเฟดขะขึ้นดอกเบี้ยแรงแค่ไหน แต่ไม่ทิ้งความเป็นไปได้ที่เฟดยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 20-21 เดือนกันยายน เพื่อดึงเงินเฟ้อลง ทำให้ตลาดปรับตัวลดลงในช่วงบ่ายของวัน เพราะนักลงทุนขายเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงวันหยุดยาว

ตลาดหุ้นสหรัฐจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 5 ก.ย. เนื่องในวันแรงงาน

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 3%, ดัชนี S&P500 ร่วง 3.3% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 4.2% โดยดัชนีทั้ง 3 ตัวปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว

ไมเคิล เพิรส์ จาก Capital Economics กล่าวว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมที่ชะลอตัวเล็กน้อยกับแรงงานที่เข้าสู่ระบบมากขึ้น และค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาจะทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.50% มากกว่าที่จะขึ้น 0.75% แต่เฟดจะให้นำหนักกับ CPI มากกว่า

จิม พอสเสน จาก Leuthold Group กล่าวว่า ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรยังไม่ใช่ปัจจัยสุดท้ายที่เฟดจะนำมาประเมินการขึ้นดอกเบี้ย เพราะเชื่อว่าเฟดต้องดูข้อมูล CPI ก่อน และยังมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แม้จะหย่อนมาทาง 0.50%

เกร็ก ฟาราเนลโล จาก AmeriVet Securities กล่าววา สัญญาซื้อขายล่วงหน้า fed funds บ่งชี้มีความน่าจะเป็น 70% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ลดลงจากก่อนการรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร

ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าจะเกิดวิกฤติพลังงานในยุโรปอีกครั้ง และนำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหนักของยุโรปและกระทบต่อการเติบโตหลังบริษัทก๊าซพรอมของรัสเซีย ประกาศว่าไม่สามารถเริ่มการส่งมอบก๊าซผ่านท่อก๊าซนอร์ด สตรีมได้ทันในวันเสาร์ (3 ก.ย.) จนกว่าจะแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของก๊าซเสร็จ โดยไม่กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นหลังราคาน้ำมันปรับขึ้นก่อนการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิต OPEC โดยหุ้นออคซิเดนทัล ปิโตรเลียม และหุ้นเดวอน เอ็นเนอร์จี้ต่างบวกราว 2% หุ้นเอ็กซอนโมบิลและหุ้นเชฟรอนต่างเพิ่มขึ้นกว่า 1.5%

หุ้น Kohl’s ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่บวก 7.5% จากรายงานว่า Oak Street Real Estate Capital ซึ่งเป็นไรพเวท อิควิตี้เสนอซื้อสินทรัพย์สูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจอื่นกระทรวงพาณิชย์รายงานคำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนกรกฎาคมลดลง 1.0% จากที่เพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนมิถุนายนขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 0.3%

ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นำโดยกลุ่มรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 1.7 % หลังการรายงานข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ ที่สะท้อนภาวะตลาดแรงงานสดใส ทำให้คลายกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามตลาดปรับขึ้นไม่มากเพราะวิตกต่อแรงกดดันที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรโซนและอังกฤษที่อาจจะถดถอยจากภาวะขาดแคลนพลังงาน มีผลต่อค่าครองชีพ เพราะเงินเฟ้อสูง

นอกจากนี้บริษัทก๊าซพรอมของรัสเซีย ประกาศว่าไม่สามารถเริ่มการส่งมอบก๊าซผ่านท่อก๊าซนอร์ด สตรีมได้ทันในวันเสาร์ (3 ก.ย.) จนกว่าจะแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของก๊าซเสร็จ โดยไม่กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

Eurostat รายงานราคาผู้ผลิต(Industrial producer price) เดือนกรกฎคมยูโรโซนเพิ่มขึ้น 37.9% เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบรายเดือน จากที่เพิ่มขึ้น 36% ในเดือนมิถุนายน และสูงกว่า 35.8% ที่ตลาดคาด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 415.97 จุด เพิ่มขึ้น 8.31 จุด, +2.04%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,281.19 จุด เพิ่มขึ้น 132.69 จุด, +1.86%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,167.51 จุด เพิ่มขึ้น 133.20 จุด, +2.21%,

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,050.27 จุด เพิ่มขึ้น 420.04 จุด, +3.33%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 86.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 66 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 93.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล