HoonSmart.com>>ก.ล.ต.ออก 6 หลักเกณฑ์โฆษณาผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เริ่ม 1 ก.ย.65 ต้องไม่เกินจริง เปิดรายละเอียดโฆษณา-ค่าใช้จ่าย-การจ้างบุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการ (blogger หรือ influencer)หลังพบปัญหา ไม่มีคำเตือนความเสี่ยงสูงของคริปโทเคอร์เรนซี หรือเตือนขนาดเล็กเกินไป เนื้อหาแสดงข้อมูลเพียงด้านบวก อาจเป็นการชักชวนประชาชนมาใช้บริการไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างได้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนและเหมาะสม สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของต่างประเทศ และเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565 และสำหรับโฆษณาที่มีมาก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับต้องแก้ไขให้เป็นไปตามที่กำหนดภายใน 30 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ในวงกว้าง ซึ่ง ก.ล.ต. ได้พบประเด็นปัญหาจากการโฆษณา เช่น ไม่มีคำเตือนเรื่องความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งมีความผันผวนสูง หรือคำเตือนมีขนาดเล็กเกินไป รวมถึงเนื้อหาโฆษณาที่แสดงข้อมูลเพียงด้านบวก จึงอาจเป็นการชักชวนประชาชนใช้บริการหรือซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาข้อมูลและความเสี่ยงอย่างเหมาะสมก่อนตัดสินใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้
ก.ล.ต. จึงออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตามหลักการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ. และ 5 พ.ค. 2565 ได้มีมติเห็นชอบและปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการโฆษณาให้มีความชัดเจนและเหมาะสม สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของต่างประเทศ และเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขาย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) การโฆษณาต้องไม่เป็นเท็จ ไม่เกินความจริง ไม่บิดเบือน ไม่ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ ให้ระบุเฉพาะจำนวนลูกค้าที่ได้รับอนุมัติให้เปิดบัญชีและพร้อมใช้บริการแล้วเท่านั้น
(2) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะจัดให้มีการโฆษณา ต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและค่าใช้จ่ายในการโฆษณา รวมถึงรายละเอียดการจ้างบุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการ (blogger หรือ influencer) ต่อ ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และเงื่อนเวลา ที่กำหนด
(3) กำหนดให้มีคำเตือนความเสี่ยงในการลงทุนประกอบการโฆษณา โดยรูปแบบการนำเสนอต้องชัดเจน และสังเกตได้ง่าย ต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างครบถ้วน โดยหากมีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน ต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่กัน (balanced view)
(4) กำหนดให้การโฆษณาคริปโทเคอร์เรนซีสามารถทำได้ในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ (official channel) เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้การโฆษณาคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความผันผวนสูงเข้าถึงประชาชนเป็นวงกว้าง และป้องกันไม่ให้เกิดการส่งเสริมหรือการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อขายแบบฉับพลัน (impulsive buying) ขณะที่การโฆษณาเกี่ยวกับการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจยังคงสามารถทำได้ในพื้นที่สาธารณะและช่องทางอื่น ๆ
(5) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้จัดทำโฆษณา หรือผู้จัดให้มีการโฆษณาเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งรวมถึงบริษัทในกลุ่ม บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการ และผู้ที่มีบทบาทหลักที่ปรากฏในโฆษณา ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
(6) ยกเลิกการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (introducing broker agent: IBA) ของผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการคริปโทเคอร์เรนซี สำหรับการให้บริการโทเคนดิจิทัลยังจัดให้มี IBA ได้
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยได้มีการกำหนดบทเฉพาะกาล สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการเผยแพร่โฆษณาอยู่ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ให้ปรับปรุงหรือแก้ไขการโฆษณาดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดภายใน 30 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ