5 โบรกฯส่องหุ้นได้-เสีย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5%

HoonSmart.com>> 5 โบรกเกอร์ประเมินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยราว 5% เริ่ม 1 ต.ค. จะเป็นบวกต่อ GDP ราว 0.1-0.2% แต่จะกระทบกำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่มากราว 0.7-1.4% อาจเกิดขึ้นในไตรมาส 4/65 ซึ่งการขึ้นค่าแรงจะดีต่อการบริโภคภายในประเทศ กลุ่มที่คาดจะได้รับผลดีเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่เปิดชานเมือง-ต่างจังหวัด, กลุ่มไฟแนนซ์และธนาคาร, ค้าปลีก(กำลังซื้อสูงขึ้น), สื่อสาร ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากขึ้นค่าแรงตรงไปที่ธุรกิจก่อสร้าง, อสังหาฯ, ภาคผลิตสินค้าเกษตร อาหาร และชิ้นส่วนฯ

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีมุมมองบวกต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งรอบนี้เฉลี่ยปรับขึ้น 5% เมื่อเทียบกับในอดีตถือว่ามาก เพราะในอดีตปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งละแค่ 2% โดยประเมินขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นบวกต่อ GDP ไทยราว 0.1-0.2% แต่จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนราว 0.7-1.4% ซึ่งก็ถือว่ายังไม่มาก โดยการขึ้นค่าแรงจะดีต่อการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย และบริการ จะได้รับผลบวก แต่จะเป็นลบต่อธุรกิจเกี่ยวกับภาคการผลิต

บล.ทรีนีตี้ มีมุมมองเชิงลบเล็กน้อยต่อประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยมีระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาทหรือคิดเป็นอัตราการปรับขึ้นจากเดิมราว 5% แม้ดูเหมือนเป็นตัวเลขที่ไม่เยอะ แต่การรีบให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ถือเป็น Timeline ที่เร็วกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้า มองผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มเห็นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีสัดส่วนต้นทุนอิงกับแรงงานในระดับสูงและแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้างอิงกับค่าแรงขั้นต่ำ อาทิ ภาคธุรกิจก่อสร้าง (ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังภาคอสังหาฯ) ภาคการผลิตสินค้าเกษตร อาหารและชิ้นส่วนฯ ภาคค้าปลีกและบริการ เช่น ร้านอาหารและโรงแรม เป็นต้น

ในทางกลับกันมองกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ กลุ่มที่มีโอกาสเห็นกำลังซื้อของกลุ่มฐานรากที่มากขึ้น อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลที่มีพื้นที่การให้บริการในย่านชานเมืองหรือต่างจังหวัด นอกจากนั้นอีกกลุ่มหนึ่งทีอาจได้รับ Sentiment เชิงบวกก็คือกลุ่มไฟแนนซ์ที่นักลงทุนอาจมองว่าระดับหนี้เสียในตลาดอาจปรับตัวลดลงจากความสามารถในการจ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5.03% เริ่ม 1 ต.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 โดยสูงสุด 354 บาท/วัน (ชะลบุรี ระยอง ภูเก็ต) ต่ำสุด 328 บาท/วัน เฉลี่ย 77 จัหงวัด 337 บาท/วัน คิดเป็นการขึ้นเฉลี่ย 5.03% ทั้งนี้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในเบื้องต้นจะสร้างผลกระทบในมุมต้นทุนให้แก่ 1) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง 2) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 3) กลุ่มแปรรูปอาหารที่ใช้แรงงานเข้มข้น

ขณะที่กลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ หรือมีผลบวกในเชิงเปรียบเทียบ จะได้แก่ 1) ค้าปลีก (กำลังซื้อที่สูงขึ้น) 2) สื่อสาร (กำลังซื้อบวกต่อการใช้จ่าย) 3) การเงิน (ค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้สูงขึ้น)

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินกรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ กลุ่มส่งออกอาหาร, ร้านอาหาร, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มรับเหมาฯ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางบวก ได้แก่ กลุ่มธนาคารและการเงิน

บล.เอเอสแอล ระบุ กระทรวงแรงงานปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3-7% ตั้งแต่ 328-354 บาท มีผล 1 ต.ค. ในแง่ของกำลังซื้อของแรงงาน-ผู้บริโภคมากขึ้น จะเป็นบวกต่อกลุ่มไฟแนนซ์ ชอบ MTC TIDLOR JMT ที่จะได้ประโยชน์ต่อแนวโน้มความสามารถในการจ่ายหนี้ที่สูงขึ้น ลดโอกาสเกิดหนี้เสีย และกลุ่มที่ใช้บุคคลากรด้าน IT consult (เงินเดือนเฉลี่ยค่อนข้างสูง) จะได้รับผลกระทบด้งกล่าวน้อย กลุ่มค้าปลีก CPALL BJC CBG

ขณะที่กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง อสังหาฯจะเป็นปัจจัยลบ ส่วนในแง่มหภาค อาจเป็นการตอกย้ำภาพเงินเฟ้อในอนาคตจากการผลักภาระต้นทุนไปสู่ผู้บริโภค