บาทอ่อนหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยมองขาขึ้นดอลลาร์จำกัด

ธนาคารกรุงศรี เผยเงินบาทอ่อนค่าหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย มองแนวโน้มขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างจำกัด ดอกเบี้ยสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้จุดสมดุลมากขึ้น

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ช่วง 2.00-2.25% หลังสิ้นสุดการประชุมวันที่ 25-26 กันยายน ตามความคาดหมายของนักลงทุน โดยเฟดระบุเช่นเดียวกันกับการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ทั้งในด้านตลาดแรงงาน การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคธุรกิจ ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2% ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดนี้นับเป็นครั้งที่ 8 ของวัฎจักรคุมเข้มนโยบายการเงินซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ส่วนสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่ามีโอกาสราว 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2561

ในช่วงเปิดซื้อขายในประเทศเช้านี้ เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยสู่ระดับ 32.47 ต่อดอลลาร์ ขณะที่สกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคแกว่งตัวแคบๆ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับลดลงสู่ระดับ 3.05% หลังจากไม่สามารถยืนเหนือ 3.10% ได้ช่วงต้นสัปดาห์ ส่วนราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 0.3% ในปีนี้ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวผันผวนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเงินบาทนับเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย

“นัยสำคัญของการประชุมรอบล่าสุดในมุมมองของเรา คือ การที่เฟดตัดคำว่า ภาวะนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ออกไปจากแถลงการณ์ บ่งชี้ว่าแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยใกล้จะถึงจุดชะลอตัว อย่างไรก็ดี นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวหลังการประชุมด้วยลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้ว่าการปรับแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนว่าเฟดเปลี่ยนท่าทีต่อการดำเนินนโยบายแต่อย่างใด ความเห็นของนายพาวเวลล์ช่วยลดปฏิกิริยาตลาดลงได้บ้าง ขณะที่เราคาดว่าเฟดจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม แม้เฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2562 และอีก 1 ครั้งในปี 2563″กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า แนวโน้มขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างจำกัด ท่ามกลางภาวะที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้จุดสมดุลมากขึ้น ในทางกลับกัน มีโอกาสสูงขึ้นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มต้นปรับสมดุลนโยบายการเงินก่อนสิ้นปีนี้ ส่วนปัจจัยชี้นำสำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะสั้นยังอยู่ที่การประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และทิศทางค่าเงินหยวนเป็นสำคัญ