TGE ปิดเทรดวันแรก 1.95 บาท ต่ำกว่าจอง 2.50%

HoonSmart.com>>หุ้น TGE ปิดเทรดวันแรก 1.95 บาท ต่ำกว่าราคาขาย IPO 2.50% บริษัทฯมีเป้าหมายระยะยาวเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งรวมโครงการที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา มากกว่า 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 70 และเพิ่มเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 75 เน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

หุ้น TGE ปิดเทรดวันแรกที่ 1.95 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือ -2.50% จากราคาขาย IPO ที่ 2.00 บาทต่อหุ้น มูลค่าซื้อขาย 2,574.71 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 1.91 บาท ขึ้นสูงสุด 2.06 บาท และต่ำสุด 1.87 บาท

นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) เชื่อว่า หุ้น TGE จะได้รับความสนใจที่ดีต่อเนื่องจากนักลงทุนที่เชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทฯ ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพ หลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ TGE จะนำเงินไปใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ชำระเงินกู้สถาบันการเงินและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อผลักดันการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทฯมีเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งรวมโครงการที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เป็นมากกว่า 100 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2570 และเพิ่มเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575 เน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานจากขยะ พร้อมต่อยอดธุรกิจไปยังพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ โดยแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตและผลกำไรอย่างยั่งยืนตลอดจนนำเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ช่วยลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เปิด COD แล้ว 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 MW และมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ระหว่างพัฒนา 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES SKW จ.สระแก้วจำนวน 8 MW โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES RBR จ.ราชบุรี จำนวน 8 MW และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES CPN จ.ชุมพร จำนวน 6 MW โดยทั้งหมดได้รับคัดเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าแล้ว คาดว่าจะ COD ภายในปี 2567 ทำให้บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มเป็น 51.7 MW

อีกทั้งมีแผนเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับ อปท. อีก 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES PRI จ.ปราจีนบุรี, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES CNT จ.ชัยนาท, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES UBN จ.อุบลราชธานี และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน TES TCN จ.สมุทรสาคร คาดว่าหากได้รับคัดเลือก จะสามารถเปิด COD ได้ในปี 2568 ซึ่งหากเป็นไปตามแผนงานที่ตั้งเป้าไว้จะทำให้มีกำลังผลิตติดตั้งรวมในอีก 3 ปีข้างหน้า เพิ่มเป็นประมาณ 90 MW และบริษัทฯ ยังคงแสวงหาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเข้าลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 200 MW

นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ 2 บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า TGE เป็นผู้ประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีในระยะยาว จากกลยุทธ์ขยายธุรกิจที่ชัดเจน โดยมุ่งมั่นพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการแสวงหาโอกาสในธุรกิจพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ประกอบกับรากฐานธุรกิจอันแข็งแกร่ง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาโดยตลอด รายได้รวมนับจากปี 2562–2564 เพิ่มขึ้นจาก 347.5 ล้านบาท เป็น 807.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยราว 50% ต่อปี เช่นเดียวกับกำไรสุทธิปี 2562–2564 ที่เพิ่มขึ้นจาก 94.3 ล้านบาท เป็น 202.1 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

นางยอดฤดี สันตติกุล กรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า TGE เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจากการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 600 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย 2 บาทต่อหุ้น สามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจในอนาคตของ TGE ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่พร้อมเติบโตตามเมกะเทรนด์ของโลกด้าน Green Energy และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ