PTTEP ชิงดำ กลุ่มเชฟรอน ประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณในอ่าวไทย ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ฯลุยเดี่ยว แข่งแหล่งบงกช ส่วนเอราวัณ จับมือกลุ่มมูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลุ่มเชฟรอนจับมือกับกลุ่มมิตซุย ออยล์ เข้าร่วมประมูลทั้งสองแหล่ง คาดเสนอรายชื่อผู้ชนะเข้าครม.เดือนธ.ค.นี้
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 25 ก.ย. 2561 มีเอกชนยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยในฐานะผู้ดำเนินการผลิต แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ถือหุ้น 60% ร่วมกับ บริษัท เอ็มอี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มมูบาดาลา ถือหุ้น 40%
ส่วนกลุ่มที่ 2 บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 74% ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ถือหุ้น 26%
สำหรับแปลง G2/61 หรือแหล่งบงกช ได้แก่ 1.บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 100% และ 2.บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 74% ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ถือหุ้น 26%
“คาดว่าจะนำเสนอชื่อผู้ชนะประมูลไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือนธ.ค.2561 ส่วนหน่วยงานรัฐใดที่จะเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 25% ครม.จะเป็นผู้ตัดสินใจ มีเป้าหมายจะลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับทั้ง 2 แปลง ในเดือน ก.พ.2562″นายวีระศักดิ์ กล่าว
การประมูลครั้งนี้จะพิจารณาให้น้ำหนักราคาก๊าซธรรมชาติที่ต่ำสุดเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการพิจารณา 65% ,การแบ่งกำไรให้ภาครัฐ สัดส่วน 25% ,การจ่ายโบนัสพิเศษให้ภาครัฐ สัดส่วน 5% และการใช้พนักงานคนไทย สัดส่วน 5% ผู้ที่ชนะประมูลจะได้รับสัญญาเป็นผู้ดำเนินการผลิตเป็นเวลา 20 ปี และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 10 ปี แต่ในช่วง 10 ปีแรกจะต้องผลิตปิโตรเลียมขั้นต่ำสำหรับแหล่งบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนจากทั้ง 2 แหล่งตลอดอายุสัญญาเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.2-1.4 ล้านล้านบาท
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้ยื่นประมูลแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ในส่วนแหล่งบงกชนั้น ปตท.สผ. ยื่นประมูลเองทั้ง 100% หลังจากที่กลุ่มโททาลไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่ก็ไม่ปิดกั้นที่จะหาผู้ร่วมทุนเพิ่มเติมในอนาคต
กรณีที่ไม่ร่วมประมูลกับกลุ่มเชฟรอนในแหล่งเอราวัณนั้น เนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ปัจจุบันปตท.สผ. ถือหุ้นเพียง 5% โดยมีกลุ่มเชฟรอนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้ดำเนินงานในแหล่งเอราวัณอยู่
“เราเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ ประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชตลอดระยะเวลา 25 ปี และมีความพร้อมด้านการเงิน มีเงินสดมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและยังมีความสามารถในการกู้เงินเพิ่ม” นายสมพร กล่าว
สำหรับแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทย มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันคิดเป็น 60% ของทั้งประเทศ โดยแหล่งผลิตทั้ง 2 จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566