‘หัวเฉียว’ทุ่ม 500 ล้านบาท ยกระดับรักษาเฉพาะทาง

โรงพยาบาลหัวเฉียวสานต่อนโยบายโรงพยาบาลเพื่อสังคม ไม่แสวงหากำไร 5 ปีก่อนเทงบลงทุนและพัฒนา 1,000 ล้านบาท ใส่เงินเพิ่ม 500 ล้านบาท จัดทำแผน 3-5 ปี ยกระดับ รักษาโรคยาก โรคซับซ้อน พร้อมเปิดศูนย์อุบัติเหตุ หลังเปิดให้บริการแล้ว 5 ศูนย์

นายสุธี เกตุศิริ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลหัวเฉียว เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ 3-5 ปีว่า จะยกระดับให้โรงพยาบาลหัวเฉียวเป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคซับซ้อน โรครักษายาก (ระดับตติยภูมิ) ในหลากหลายสาขามากขึ้น จากปัจจุบันรักษาโรคได้ครบทุกสาขาการแพทย์อยู่แล้ว หลังจากมีการปรับปรุงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2557 จนถึงขณะนี้ได้ใช้งบลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท


“5 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลหัวเฉียว มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เราจึงต้องปรับตัวให้ทันกับโรงพยาบาลเอกชนที่ มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปมาก หากไม่ปรับตัวเราก็จะเสียโอกาสและเสียบุคลากรทางการแพทย์ไป โดยเปิดศูนย์เฉพาะทางจำนวนมาก อาทิ ตั้งแต่ปี 2558 – 2560 เปิดศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางศัลยกรรมและนรีเวช ศูนย์แม่และเด็ก ในปี 2561 – 2562 เปิดศูนย์โรคกระดูกและข้อ ศูนย์จักษุ ส่วนในปี 2563 – 2564 มีแผนจะเปิดศูนย์อุบัติเหตุ และอื่นๆ คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท” นายสุธี กล่าว

สำหรับในปี 2561 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2562 โรงพยาบาลฯ ยังมีการพัฒนาระบบสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ ด้วยงบประมาณถึง 60 ล้านบาท เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 20 % หรือประมาณ 6 แสนรายต่อปี จากเดิมที่มีเพียง 5 แสนรายต่อปี และในอนาคตจะมีการเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วย ปัจจุบันมีจำนวน 338 เตียง มีอัตราการครองเตียง 75 % พร้อมเพิ่มบุคคลากรโดยจะเน้นไปที่แพทย์เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมามีแพทย์ประจำ 60 ท่าน แพทย์ที่ปรึกษา 200 ท่าน ปัจจุบันมีแพทย์ประจำถึง 90 ท่าน แพทย์ที่ปรึกษาอีกประมาณ 250 ท่าน ในส่วนพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล มีประมาณกว่า 400 คน

ทางด้านผลประกอบการของโรงพยาบาลหัวเฉียวในปี 2560 – 2561 มีรายได้เติบโตประมาณปีละ 10 – 15 % โครงสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนเงินสด 65 % และประกันสังคม 35 %

“โรงพยาบาลหัวเฉียว เป็นโรงพยาบาลเอกชนในสังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่มุ่งเน้นการให้บริการและนำผลกำไรกลับไปลงทุนซ้ำ มีนโยบายที่เด่นชัดในการเป็นองค์กรเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.โครงการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล 2.โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ณ จุดเกิดเหตุ 3.โครงการให้ทุนการศึกษาพยาบาล และวิชาชีพอื่นๆ 4.โครงการให้ความรู้ 5.โครงการให้ความรู้ และ 6 โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จัดบริการให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งในแต่ละโครงการมีรายละเอียดปลีกย่อย อาทิ โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ณ จุดเกิดเหตุ ในแต่ละปีให้การช่วยเหลือมากกว่า 1,000 ครั้ง ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”นายสุธีกล่าว