TOP โชว์กำไร Q2/65 พุ่งกว่า 2.53 หมื่นลบ. รับกำไรพิเศษขาย GPSC

HoonSmart.com>>”ไทยออยล์”(TOP)โชว์กำไรสุทธิไตรมาส 2/65 ถึง 25,327 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,122.68 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 12.41 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 1.04 ล้านบาท รับกำไรพิเศษจากขายหุ้น”โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่”(GPSC)จำนวน 17,334 ล้านบาท (ก่อนภาษี) โดยกลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย และ EBITDA จำนวน 143,892 ล้านบาท และ 22,322 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนแผนการลงทุนในอนาคต ตั้งแต่ปี 2565-2568 จำนวนทั้งสิ้น 1,956 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(คิดเป็นประมาณ 68,460 ล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) 1,422 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นประมาณ 49,770 ล้าบาท)

บริษัท ไทยออยล์ (TOP) แจ้งว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มไทยออยล์สำหรับไตรมาส 2 ปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ในไตรมาส 2 ปี 2565 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 25,327 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,122.68 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 12.41 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 1.04 ล้านบาท ผลกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น จากทั้งกำไรจากการดำเนินงาน และกำไรพิเศษจากการขายหุ้นบบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)จำนวน 17,334 ล้านบาท (ก่อนภาษี) หรือคิดเป็น 12,880 ล้านบาท (หลังภาษี)

ในไตรมาส 2 ปี 2565 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน(Accounting GIM) อยู่ที่ 33.4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และด้วยปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มอยู่ที่ 312 พันบาร์เรลต่อวัน ทำให้กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย และ EBITDA จำนวน 143,892 ล้านบาท และ 22,322 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ และขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงิน

เมื่อเทียบ Q2/65 กับ Q2/64 กลุ่มไทยออยล์มีปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและการผ่อนคลำยการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ โดยมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 65,772 ล้านบาท ตามราคาขายเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น 20.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน/น้ำมันก๊าด และน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวดีขึ้นมาก หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและการเดินทางระหว่างประเทศ อีกทั้งธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาดมีกำไรขั้นต้นสูงขึ้นจากอุปสงค์ของสาร LAB ที่ดีอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกับน้ำมันเตาปรับตัวลดลงจากอุปทานในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นในภูมิภาค ประกอบกับส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนและเบนซีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ปรับลดลงจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำนดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น 3,774 ล้านบาทจากไตรมาส 2/64 และมีรายการกลับรายการสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 259 ล้านบาทในไตรมาส 2/65 เทียบกับรายการปรับลดมูลค่า มูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำสำเร็จรูป 71 ล้านบาทในไตรมาส 2/64 เมื่อรวมกับผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิที่เพิ่มขึ้น 10,207 ล้านบาท ส่งผลให้มี EBITDA เพิ่มขึ้น 15,319 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2/65 กลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งขาดทุนเพิ่มขึ้น 1,340 ล้านบาทจากไตรมาส 2/64 อีกทั้ง มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิโดยขาดทุนเพิ่มขึ้น 31 ล้านบาท เมื่อหักค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ส่งผลให้มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 23,204 ล้านบาทจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ และ บริษัทในกลุ่มมีแผนการลงทุนโครงการในอนาคต ตั้งแต่ปี 2565 ถึง ปี 2568 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,956 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) 1,422 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์ของบริษัทฯ โดยผ่านการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ประมาณ 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และโครงการอื่นของบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทฯประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 ปรับดีขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัวและค่าการกลั่นที่ปรับสูงขึ้นชั่วคราวจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดตึงตัว ส่วนครึ่งปีหลังยังต้องติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความผันผวนสูง ในขณะที่ค่าการกลั่นเริ่มปรับลดลงสู่ระดับปกติ เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานปรับสู่สมดุล ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันเบนซินทยอยปรับสู่ระดับปกติ โดยในไตรมาส 2/55 มีรายได้จากการขาย 143,892 ล้านบาท
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไทยออยล์บันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 7,557 ล้านบาท มีการบันทึกขาดทุนจากการเข้าทำสัญญาบริหารความเสี่ยง 12,626 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 25,327 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไทยออยล์ได้บันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในไตรมาส 2 ปี 2565 จำนวน 12,880 ล้านบาท (หลังหักภาษี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว เพื่อนำไปชำระเงินกู้ยืมระยะสั้น (Birding Loan) สำหรับการเข้าลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีที่ประเทศอินโดนีเซีย

“ภาพรวมธุรกิจการกลั่นในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้น จึงต้องติดตามสถานการณ์และราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ไทยออยล์เร่งเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจตามแผนการลงทุนที่วางไว้ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการต่อยอดไปยังธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ได้แก่ การลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) และ การลงทุนในธุรกิจโอเลฟินที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค และ แสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต เพื่อลดความผันผวนจากอุตสาหกรรมพลังงาน และนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน”