PACO กำไรโต 68% Q2/65 ชิพขาดตลาดไม่กระทบ ลุยขยายธุรกิจทั้งใน-ต่างประเทศ 

HoonSmart.com>>เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ เผยผลประกอบการไตรมาส 2/65 มีรายได้รวม 234.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 28.7 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาส 1 ถึง 68% ลุยขยายธุรกิจ OEM & REM คาดตลาดรถยนต์ EV บูม รับอานิสงค์ต่อ มั่นใจตลาดรถยนต์โลกยังคงฟื้นตัวดี หนุนรายได้เติบโต

นายสมชาย เลิศขจรกิตติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ (PACO) กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีที่จะรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2565 ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้รวม 234.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29 % จากรายได้รวม 181 ล้านบาทในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิ 28.7 ล้าน เพิ่มขึ้น 68% จากกำไรสุทธิ 16.9 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน ซึ่งรายได้รวมและกำไรสุทธิของ PACO เติบโตดีขึ้นตามอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและทั่วโลกที่กลับมาขยายตัว ตามสภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวและกลับสู่การเติบโตอีกครั้ง

PACO มีอัตรากำไรสุทธิที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 2 ปีนี้ เรามีอัตรากำไรสุทธิที่ 12.3% สูงกว่าอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ OEM ที่ประมาณ 5-10% เนื่องจาก PACO เน้นตลาดอะไหล่ทดแทน (Aftermarket Parts) จึงสามารถกำหนดราคาขายสินค้าได้เอง และมีการแข่งขันด้านราคาที่น้อยกว่า ทั้งนี้ไตรมาส 2 ราคาอลูมิเนียมได้ปรับตัวลดลงทำให้กำไรสุทธิ ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยยะ สำหรับงบการเงิน 6 เดือนแรกปี 2565 PACO มีรายได้รวม 415 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3 % จากรายได้รวม 369.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกปี 2564 โดยมีกำไรขั้นต้น 67.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 45.6 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 60 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากต้นทุนสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสแรก

นายสมชายกล่าวเสริมว่า “สำหรับครึ่งปีหลัง PACO มุ่งมั่นที่จะขยายทั้งตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ ซึ่งคาดว่าธุรกิจจะขยายตัวได้เติบโตจากครึ่งปีแรก โดยบริษัทฯ เตรียมขยายตลาดส่งออก ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ดี เนื่องจากธุรกิจ REM หรือ อะไหล่ทดแทน จะได้ประโยชน์จากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ลูกค้าชะลอการซื้อรถใหม่ อีกทั้ง ปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ได้คลี่คลายลงอย่างมาก ทำให้บริษัทฯ สามารถส่งออกเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ PACO คาดว่าจะได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในครึ่งปีหลังอีกด้วย โดยบริษัทฯ มุ่งเน้น ตลาดตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และอาเซียน

ส่วนในประเทศ PACO จะขยายเครือข่ายร้านอะไหล่แอร์รถยนต์ครบวงจร ภายใต้แบรนด์ PACO Auto Hub (พาโก้ ออโต้ ฮับ) เพื่อสร้างแบรนด์ PACO ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ในประเทศ  และสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ แบรนด์ของคนไทย โดยเราตั้งเป้าหมายที่จะมีร้าน PACO Auto Hub จำนวน 300 สาขาภายในปีนี้ จากปัจจุบันได้เปิดไปแล้วกว่า 170 สาขา ทั่วประเทศ โดยภายในร้านจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ คอยล์ร้อนและคอยล์เย็นแบรนด์ PACO เป็นหลัก และมีสินค้าอื่นๆ อาทิเช่น ท่อน้ำยาแอร์ น้ำยาแอร์ เพื่อเป็นการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจรในที่เดียว (One-Stop Solution)

PACO เชื่อมั่นว่า บริษัทฯจะได้รับประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น 1 ในศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV Hub) ของเอเชีย เนื่องจาก PACO เป็นผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ (OEM Manufacturer) ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า คือ Battery cooler และ ชิ้นส่วนแอร์รถยนต์สำหรับรถไฟฟ้า (EV) แบบ BEV (Battery EV) และ PHEV (Plug-in Hybrid) ในรูปแบบอะไหล่ทดแทน (REM) เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ”

PACO ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ธุรกิจ OEM หรือ รับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ให้ผู้ผลิตรถยนต์ โดยได้เซ็นต์สัญญากับลูกค้าใหญ่รายแรกคือ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่มุ่งเน้นรถยนต์ไฟฟ้า EV และ Plug-in Hybrid (PHEV) ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง PACO ได้รับออเดอร์มูลค่าถึง 1,200 ล้านบาท ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงรองรับกว่า 5 ปี สำหรับธุรกิจ OEM และ รองรับรายได้ 10 ปีสำหรับธุรกิจรับจ้างผลิตอะไหล่ (OES)  รวมถึงนโยบายรัฐบาลสนับสนุนให้ค่ายรถยนต์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวนมาก อีกทั้งการทยอยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ จำนวนมากของค่ายรถยนต์เข้าสู่ตลาด และ PACO มีไลน์การผลิต อุปกรณ์เครื่องจักรมาตรฐานสากล พร้อมผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม อีกทั้งมีคู่แข่งน้อยรายในธุรกิจ จึงเชื่อมั่นว่า PACO มีโอกาสรับงานรับจ้างผลิต OEM ได้อีกจำนวนมาก” นายสมชายกล่าวปิดท้าย